ระวัง!!จักจั่นในอ้อย
23 มี.ค. 2566
103
0
ระวัง!!จักจั่นในอ้อย
ระวัง!!จักจั่นในอ้อย


สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เตือนผู้ปลูกอ้อย ในระยะ แตกกอ รับมือจักจั่น ตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย ทำให้ต้นอ้อยเหลือง ใบแห้งคล้ายอาการขาดน้ำ อ้อยแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต พบเข้าทำลายในแปลงอ้อยที่เป็นดินร่วนเหนียว และมีการปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง
วงจรชีวิตจักจั่น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข่ โดยตัวเมียจะเจาะเส้นกลางใบอ้อยเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อวางไข่ มักพบที่ใบแก่สีเขียว ประมาณใบที่ 3 – 5 นับจากใบล่าง จากนั้นเส้นกลางใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 1 – 2 เดือน ระยะตัวอ่อนของจักจั่นในอ้อย มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัย ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบ ปีกจะค่อย ๆ ยาวออกมา ซึ่งในระยะตัวอ่อน จะเป็นระยะที่สร้างความเสียหายให้กับอ้อย โดยตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตรถึง 2.5 เมตร คอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย ตัวอ่อนจะมีขาคู่หน้า ขนาดใหญ่สำหรับไว้ขุดดิน ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดินใช้เวลาประมาณ 6 – 8 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและทำความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยได้มาก ส่วนระยะตัวเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่จะขุดรูโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินและจะไต่ขึ้นมาบนลำต้นอ้อยเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม โดยระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ดังนั้น วงจรชีวิตโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี หรืออาจมากกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
หากพบการทำลายแนะนำให้รวมกลุ่มกัน โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งชุมชน แล้วรณรงค์การใช้วิธีกล หรือเขตกรรม
1. ในอ้อยปลูกใหม่ ไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง และจับตัวอ่อนในดินออกนอกแปลง ก่อนปลูกอ้อย
2. อ้อยระยะแตกกอ ต้นที่พบการทำลายให้ขุดดินเพื่อจับตัวอ่อนออกทำลายนอกแปลง
3.ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ โดยปล่อยแมลงหางหนีบ จำนวน 500 ตัวต่อไร่ ก่อนการระบาดของจักจั่น 1 เดือน เพื่อกำจัดตัวอ่อนระยะฝักจากไข่
4. จับตัวเต็มวัยไปทำลาย. โดยการใช้สวิงโฉบจักจั่น จับในช่วงเวลาประมาณ 18.00-19.00 น. เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่

ตกลง