เกษตรกรไทยปลูกผักขายในญี่ปุ่น ใช้เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง สร้างชื่อเสียงโด่งดังจนทีวีญี่ปุ่นมาถ่ายทำเรื่องราว
30 ต.ค. 2567
4
0
เกษตรกรไทยปลูกผักขายในญี่ปุ่น
เกษตรกรไทยปลูกผักขายในญี่ปุ่น ใช้เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง สร้างชื่อเสียงโด่งดังจนทีวีญี่ปุ่นมาถ่ายทำเรื่องราว

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล เราได้จัดกิจกรรม เกษตรก้าวไกลLIVE in Japan ระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567 เพื่อไปสัมภาษณ์เกษตรญี่ปุ่น ว่า รวยจริงหรือ? และเกษตรกรที่เราไปสัมภาษณ์ครั้งนี้มีทั้งเกษตรกรญี่ปุ่นและเกษตรกรไทย โดยเราได้พบกับ “ป๋าเทพ” หรือ คุณศตพล สุขานนท์ชนาภา แห่งไร่ศตพล จังหวัดอิบารากิ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งไปปักหลักอยู่ที่ญี่ปุ่นนับสิบปี เริ่มจากอาชีพขับรถแบคโฮ พอมีเวลาว่างก็ปลูกผักไทยกินเอง มีเหลือกินก็แบ่งให้คนอื่นๆ เพื่อนๆหรือคนที่ได้รับแจกอยู่บ่อยๆ ก็บอกว่าต่อไปให้ฟรีไม่ได้ จะต้องได้ค่าปุ๋ยตอบแทน จึงกลายเป็นการซื้อขายเรื่อยมา และบอกกันปากต่อปาก เริ่มจากจุดเล็กๆบนพื้นที่ของตนเอง โดยการปลูกผักกะเพราขาย ต่อมาได้ขยับขยายไปยังพื้นที่ของคนญี่ปุน ซึ่งมีที่ดินว่างเปล่า แต่ด้วยกฎหมายของญี่ปุ่นจะเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า ทำให้เจ้าของที่ดินต้องหาผู้สนใจมาทำการเพาะปลูก และป๋าเทพก็เลยโชคดี ปลูกผักขายโดยไม่ต้องมีที่ดินเป็นของตนเองเพียงอย่างเดียว

เขาเริ่มจากการปลูกกะเพรา ผักชี ต่อมาขยับขยายไปปลูกผักไทยประมาณ 10 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ฟักแฟง แตงกวา ฝักทอง ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า บวบ ถั่วฟักยาว มะเขือ มะละกอส้มตำ และโดยเฉพาะพริกซุปเปอร์ฮอต ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ตราศรแดง ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน ขายได้ปีละหลายสิบตัน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากที่ดินไม่กี่ตารางวากลายเป็นประมาณ 50 ไร่ในวันนี้

“ส่วนมากผักที่ปลูกจะเป็นผักไทยยอดนิยม โดยกว่า 50% เป็นเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง เนื่องจากมีคนนำเข้ามา หาซื้อง่าย เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ และอัตรางอกดีมาก อย่างพริกซุปเปอร์ฮอทที่ใช้ปลูกมานาน ปลูกง่าย ติดผลดก เก็บเกี่ยวเร็ว ผลยาวสม่ำเสมอ รสชาติเผ็ด มีกลิ่นหอม เป็นที่นิยมของลูกค้ามาก”

“โดยที่ดินที่ปลูกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินฟรีไม่ต้องเสียค่าเช่า เขาบอกให้เราฟรีๆ บางคนไม่รู้จักกันเลย เขาจะถามว่ายังทำไหวไหม ถ้าไหวอยากให้มาปลูกบนที่ดินของเขา คือใกล้ๆบ้านเราจะเป็นที่ดินให้เช่าในราคาถูก แต่ถ้าไกลบ้านออกไปเขาให้เราไปปลูกฟรี แต่ต้องดูแลที่ดินเขาให้ดีอย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นมา”

ในตอนท้ายป๋าเทพให้สัมภาษณ์ว่า อาชีพปลูกผักขายได้สร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างมาก โดยมีภรรยา และลูกๆมาช่วยกัน และยังสร้างงานให้กับคนอื่นๆอีกหลายคน โดยสามารถปลดหนี้ให้ลูกน้องได้ด้วยอาชีพปลูกผักและเรื่องราวของป๋าเทพยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในท้องถิ่น โดยสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น เคยมาสัมภาษณ์ถ่ายทำเรื่องราว รวมทั้งหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นก็มาสัมภาษณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรในญี่ปุ่นได้นำนักศึกษามาดูงานอีกด้วย

“ผมมาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ 10 กว่าปี ได้ออกทีวีของญี่ปุ่น จนเพื่อนในชุมชมเห็นในทีวี เขาบอกว่าเขาอยู่มาเป็นเวลา 20-30 ปี อยู่มานานกว่าผม ยังไม่เคยมีสื่อมาสัมภาษณ์ เพื่อนบ้านในชุมชนบอกว่าผมทำชื่อเสียงให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จัก ทำให้คนมาเที่ยวแวะเวียนมาหา” ป๋าเทพ เล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ

ในอนาคต ป๋าเทพบอกว่า ในปี 2568 ได้ตัดสินใจเซ้งไร่ศตพล(ขายกิจการ)ให้กับลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นที่มาฝึกงาน จนคุ้นเคยเหมือนลูกหลาน ทำให้มั่นใจมากว่ากิจการปลูกผักจะขยายไปได้อีกมาก เนื่องจากลูกศิษย์ที่มาเซ้งต่อเป็นคนรุ่นใหม่มีความรู้เรื่องตลาดออนไลน์ น่าจะขยายตลาดไปได้อีกมาก และในส่วนของตนเองในระยะแรกก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกศิษย์คนนี้ หลังจากนั้นก็จะปล่อยให้ลูกศิษย์บริหารอย่างเต็มที่ ป๋าเทพก็จะค่อยๆขยับออกมา แต่ก็จะไม่ไปไหน ตั้งใจว่าจะยังคงปลูกผักส่งขายให้กับลูกศิษย์คนนี้ต่อไป 

ตกลง