กรมประมงร่วมกับชาวประมง “คืนแม่ปูไข่นอกกระดอง” เพิ่มโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ สู่ท้องทะเลตามธรรมชาติ
27 มี.ค. 2567
55
0
กรมประมงร่วมกับชาวประมง
กรมประมงร่วมกับชาวประมง “คืนแม่ปูไข่นอกกระดอง” เพิ่มโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ สู่ท้องทะเลตามธรรมชาติ

กรมประมงผนึกกำลังชาวประมง คืนแม่ปูไข่นอกกระดองสู่ท้องทะเล เผยปริมาณการปล่อยปูไข่นอกกระดอง สูงถึง 58,478 ตัว ประมาณไข่ปูที่ปล่อยสู่ธรรมชาติกว่า 5 หมื่นล้านฟอง


นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปูที่ได้จากการทำการประมงทะเล เช่น ปูม้า ปูลาย ปูดาว ปูจั๊กจั่น ปูทะเล เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยรสชาติที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงทำให้มีความต้องการสูง

 
จากที่กรมประมงได้ดำเนินกิจกรรม “คืนชีวิตสู่ทะเล ปล่อยปูไข่ นอกกระดองคืนธรรมชาติ” ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมกลุ่มประมงท้องถิ่น พี่น้องชาวประมง และผู้ประกอบการด้านการประมง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก ปรับวิธีคิดเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวประมงให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรและเพิ่มปริมาณปูในธรรมชาติ ซึ่งผลปรากฏว่า มีชาวประมงที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 3,350 ราย โดยมีการรายงานการปล่อยปูไข่นอกกระดองลงสู่ทะเลจากชาวประมงแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 58,478 ตัว

แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย จำนวน 37,718 ตัว และฝั่งอันดามัน จำนวน 20,760 ตัว โดยเฉพาะเรือประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีการปล่อยปูไข่นอกกระดองมากที่สุด เป็นจำนวน 17,818 ตัว ซึ่งมีการปล่อยปูไข่นอกกระดองที่จับได้จากเครื่องมืออวนลากคานถ่างมากที่สุด เป็นจำนวนถึง 20,092 ตัว และส่วนใหญ่ปูไข่นอกกระดองที่ปล่อยลงสู่ทะเล จะเป็นปูม้าประมาณ 90% ของปูไข่นอกกระดองที่จับได้

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปสามารถพบปูม้าไข่นอกกระดองได้เกือบตลอดทั้งปีในทุกพื้นที่ บริเวณอ่าวไทยตอนในพบปูม้าไข่นอกกระดองมากระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม และระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม บริเวณอ่าวไทยตอนล่างพบปูม้าไข่นอกกระดองมากระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ส่วนบริเวณอ่าวไทย ฝั่งตะวันออก และฝั่งทะเลอันดามัน พบปูม้าไข่นอกกระดองได้ทุกเดือน แต่ไม่พบช่วงที่มีปูม้าไข่นอกกระดองมากอย่างชัดเจนนัก

โดยแม่ปูม้าจะมีความดกไข่ต่ำสุดประมาณ 229,538 ฟอง สูงสุดประมาณ 2,859,061 ฟอง และมีจำนวนไข่เฉลี่ย 998,292 ฟอง ซึ่งไข่นอกกระดองจะเป็นไข่ที่ปล่อยออกมาและยึดเกาะอยู่กับจับปิ้งเป็นระยะเวลาประมาณ 9 – 11 วัน และแม่ปูจะใช้ขาเขี่ยไข่ที่พร้อมฟักเป็นตัวให้หลุดจากจับปิ้ง เพื่อให้ลูกปูวัยอ่อนล่องลอยไปในทะเล หากนำปูที่มีไข่นอกกระดอง มารับประทานเท่ากับว่าลูกปูจำนวนนี้จะหายไปและหมดโอกาสเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต ดังนั้น การปล่อยปูไข่นอกกระดองที่ชาวประมงจับได้ลงสู่ทะเล จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ปูที่มีไข่นอกกระดอง สามารถเขี่ยไข่ฟักเป็นลูกปูวัยอ่อนเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตเข้าสู่วงจรชีวิตตามธรรมชาติต่อไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย “ขอขอบคุณสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมกลุ่มประมงท้องถิ่น พี่น้องชาวประมง และผู้ประกอบการด้านการประมงทุกภาคส่วน ที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรปู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีค่าต่อชาวประมง โดยได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย” อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า การจัดกิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ และช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรปูในธรรมชาติ สามารถเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพแก่พี่น้องชาวประมงให้ยั่งยืนต่อไป

ตกลง