ปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรแบบทำไร่เชิงเดี่ยวที่เต็มไปด้วยการใช้สารเคมี สู่การปลูกฟักทองเกษตรอินทรีย์ ยกระดับวิถีชีวิตที่ดีขึ้น แปรรูปผลผลิตทุกส่วนของฟักทองขายส่งท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนหนึ่งในโมเดิร์นเทรด
คุณฑิฆัมพร กองสอน หรือ แม่กำนัน ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลบัวใหญ่ และเป็นผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน ผู้ปลูกฟักทองมานานกว่า 8 ปี เล่าว่า จุดเริ่มต้นเกษตรกรอำเภอบัวใหญ่ ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินภูเขาหัวโล้น มีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีปัญหาหนี้สิน จากปัญหาต่างๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากการทำไร่เชิงเดี่ยวสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการ “1 ไร่เกษตรอินทรีย์บัวใหญ่”
แนวคิดหันมาทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน
เดิมจังหวัดน่านถือว่าเป็นจังหวัดที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในโซนภาคเหนือ มีพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่า 1 ล้านไร่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพสูง อยู่บนดอย ไม่มีแหล่งน้ำในการทำเกษตร จึงเหมาะกับการเพาะปลูกข้าวโพดที่เป็นพืชทนแล้ง แต่การปลูกข้าวโพดมาหลายปี เกิดการสะสมของสารเคมีที่ใช้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเผาซากพืชไร่ ตอข้าวโพด เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกรอบใหม่ ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาไร่หน้าดิน จนกลายเป็นดอยหัวโล้น
เมื่อปี 2556 แม่กำนันเริ่มชักชวนชาวบ้านในตำบลเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นที่ครอบครัวของตัวเองก่อน บนพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกผักสวนครัวนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น พริก, มะเขือ, ผักกาด, คะน้า, กวางตุ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยยึดแนวคิด “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง
หลังจากที่เน้นการปลูกเพื่อกิน เพื่อลดรายจ่าย แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ในส่วนของการสร้างรายได้ จึงร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ หันมาชวนชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ดีขึ้น จึงหันมาปลูกฟักทองอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากการหยิบยกฟักทองสายพันธุ์ท้องถิ่นมาพัฒนายกระดับการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนและการมีรายได้ที่มั่นคง
แม่กำนัน บอกว่า “อยากส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวต่างๆ ที่สามารถเก็บขายให้มีรายได้เป็นรายวัน และปลูกฟักทองอินทรีย์เพื่อให้มีรายได้เป็นรายเดือนตลอดทั้งปี จากเดิมที่ปลูกข้าวโพดขายได้แค่ปีละครั้ง เพียงลองปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบใหม่ก็สามารถทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคงได้” จึงอยากผลักดันให้เกิดการทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน
การแปรรูปฟักทอง ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ มีสมาชิกทั้งหมด 179 ราย ปลูกฟักทองอินทรีย์และผักอินทรีย์ต่างๆ โดยฟักทองจะมีห้างค้าส่งขนาดใหญ่และซูเปอร์มาร์เก็ตรับซื้อผลผลิต
สมาชิกส่วนใหญ่ปลูกฟักทอง “พันธุ์ไข่เน่า” เป็นฟักทองพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดน่าน ผลมีรูปทรงกลมแบน และกลมมน เนื้อในมีสีเหลือง เนื้อบางส่วนจะออกสีเขียวขี้ม้าเหมือนสีไข่เน่า แม้สีไม่สวย แต่เนื้อแน่นอร่อย ไม่ยุ่ย รสชาติหวานมัน ทำอาหาร ทำขนมได้หลายอย่าง
การที่ปลูกฟักทองแบบอินทรีย์ น้ำหนักผลผลิตที่ได้อาจจะต่ำกว่าการใช้สารเคมี รูปทรงอาจจะไม่ได้สวยงามมากนัก หรืออาจจะบิดเบี้ยว ลูกเล็ก แม่กำนันก็รับซื้อจากสมาชิกในกลุ่ม ถึงแม้ถ้านำไปจำหน่ายราคาที่ได้อาจจะน้อยนิด เราถึงเห็นคุณค่าทุกส่วนของฟักทอง ไม่อยากให้ทิ้งไปเปล่าประโยชน์ จึงเกิดไอเดียการนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตนั้นเอง
โดยจะรับซื้อฟักทองจากสมาชิกราคาตามเกรด ดังนี้
เกรดเอ น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป รับซื้อราคากิโลกรัมละ 13 บาท
เกรดบี ฟักทองที่ลูกเล็ก ตกเกรด รับซื้อราคากิโลกรัมละ 2-8 บาท ซึ่งฟักทองที่ตกเกรดจะนำมาทำขนมหรือแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ได้
ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการแปรรูปมีหลากหลายอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีงานวิจัยรองรับ จากทางอาจารย์ มทร. ที่เป็นหนึ่งในผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ขนมเปี๊ยะฟักทอง, คุกกี้ฟักทอง, ขนมเค้กฟักทอง, ข้าวเกรียบ, น้ำมันเมล็ดฟักทอง, กาแฟดริปผสมเมล็ดฟักทอง, ผงฟักทอง แม้แต่เปลือกหรือไส้ในฟักทองแทนที่จะนำไปทิ้งยังสามารถนำไปให้ไก่กินได้อีกด้วย ทำให้ไก่มีไขมันที่มีประโยชน์ โอเมก้า 3 สูง จากที่ต้องนำไปทิ้งเรากลับมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากมันได้มหาศาล