ภก.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เขียนไว้ในคอลัมน์ คนงามเพราะแต่ง วารสารอภัยภูเบศร ปีที่ 16 ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับ “ใบหูเสือ” ว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตรงส่วนร้านอาหารในสปามีทำใบหูเสือเป็นอาหาร จำได้ว่าตอนนั้นกินทั้งแบบเมี่ยงเป็นผัก และเป็นเครื่องดื่ม (ปั่นผสมสับปะรด น้ำผึ้งเล็กน้อย ทำให้ดื่มง่ายขึ้น) กินทีไรก็รู้สึกดี คือรู้สึกโล่ง หายใจสะดวก และอาการภูมิแพ้ก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนหายปกติ ภายใน 1 สัปดาห์ ที่กินเกือบทุกวัน วันละมื้อเดียว คือมื้อกลางวัน ดิฉันสนใจสมุนไพรต้นนี้ จึงอยากหาข้อมูลเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ เพราะต้นหูเสือ ปลูกง่าย หน้าตาน่ารัก ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากพืชชนิดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกะเพราและออริกาโน
ทางแผนไทยจัดว่า ใบหูเสือมีรสเผ็ดร้อน นิยมใช้ใบเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร เพิ่มน้ำนม น้ำมันหอมระเหยในใบ หากนำมาขยี้ดมจะช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูกได้ หากนำมาทาภายนอกที่ท้องหรือกินจะช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อย ขับลม การเคี้ยวใบช่วยดับกลิ่นปาก ป้องกันฟันผุ ต้มน้ำดื่มแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ใบหูเสือยังออกฤทธิ์โดดเด่นที่ระบบทางเดินหายใจ ใช้เป็นยาแก้หวัด บรรเทาอาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอลซิลอักเสบ แก้หอบหืด ทำให้หายใจโล่ง ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ อาจจะใส่น้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย หรือจะนำไปทำเป็นเมนูอาหาร เช่น ต้มเป็นแกงจืด โดยสับใบหูเสือกับหมูสับเมี่ยงหูเสือ กินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ แกล้มอาหาร
งานวิจัยปัจจุบันพบว่า ใบหูเสือมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการอักเสบ ว่าแล้วก็หาไปปลูกกันสักต้นดีไหม ไว้เป็นยาและอาหารในครัวเรือน