เบญจมาศ เป็นไม้ดอกล้มลุก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและญี่ปุ่น ถ้าแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ก็จะแบ่งได้เป็นเบญจมาศที่ปลูกเพื่อตัดดอกกับเบญจมาศที่ปลูกเพื่อเป็นไม้กระถาง ในปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ของเบญจมาศกระถางกันมากมาย นอกจากความหลากหลายสีสันแล้ว ยังมีความหลากหลายในลักษณะของรูปทรงดอกอีกด้วย และการแตกทรงพุ่มและการเจริญเติบโตของเบญจมาศกระถางก็ยังมีความแตกต่างกัน
โครงการพัฒนาบ้านโปงตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่บ้านโปง ในปี พ.ศ. 2527 ด้วยทรงทราบว่าราษฎรชาวบ้านโปงมีการอนุรักษ์ป่าและต้นน้ำลำธารเป็นอย่างดี เนื่องจากบริเวณแถบนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยโจ้ ซึ่งจะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำแม่ปิง จึงได้มีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดหาพืชพรรณที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยงมาให้ชาวบ้านแม่โปง เพื่อจะได้มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานโดยไม่ต้องไปรบกวนแหล่งต้นน้ำลำธาร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร จึงได้รับสนองพระราชดำริโดยการจัดตั้งเป็นโครงการพัฒนาบ้านโปงตามพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การปลูกเลี้ยงเบญจมาศกระถางและเบญจมาศตัดดอก เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านบ้านโปงและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง เมื่อปี พ.ศ. 2530
อาจารย์ธนวัฒน์ รอดขาว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ซึ่งจบปริญญาตรี สาขาพืชสวน จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้ามารับผิดชอบดูแลด้านการผลิตและอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงเบญจมาศกระถาง และเบญจมาศตัดดอกของโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และต่อมาได้ไปศึกษาต่อทางด้านการเพาะเนื้อเยื่อ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ บางเขน เพื่อมาพัฒนางานของเบญจมาศทางด้านการขยายพันธุ์ เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยการเด็ดยอดปักชำไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากเพียงพอสำหรับการทำการค้าได้
ต้นพันธุ์เบญจมาศกระถาง
มาจากการปั่นตา
จากที่เคยมีการขยายพันธุ์เบญจมาศด้วยการปักชำยอด ซึ่งได้ในปริมาณน้อยและมีโรครบกวนมาก ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนจากวิธีเดิมเป็นการขยายพันธุ์ต้นเบญจมาศด้วยการนำยอดไปปั่นเนื้อเยื่อ เนื่องจากโครงการต้องการผลิตต้นพันธุ์จำนวนมากเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปเป็นต้นกล้าได้พอเพียงกับความต้องการ จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่าต้นกล้าเบญจมาศที่ได้จะเป็นต้นกล้าที่มีความสะอาดปลอดเชื้อโรค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเริ่มแรกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ เมื่อนำต้นพันธุ์เบญจมาศมาลงปลูกในโรงเรือนอนุบาลตามที่เตรียมไว้อย่างดีแล้วประมาณ 1 เดือน จึงนำลงมาชำในกระถาง 5 นิ้ว ที่ใส่วัสดุปลูกพร้อม
วัสดุปลูก
การเตรียมวัสดุปลูกเป็นสิ่งสำคัญ วัสดุที่ใช้ปลูกจะประกอบด้วย ขุยมะพร้าว 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน ทรายหยาบและปุ๋ยหมักอย่างละ 1 ส่วน นอกจากวัสดุปลูกแล้วยังต้องใช้ปุ๋ยรองพื้น คือปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต สูตร 0-46-0 อีกจำนวน 0.5 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากันกับเครื่องปลูก รดน้ำให้พอชุ่ม แล้วนำวัสดุปลูกใส่กระถางพลาสติกดำ 5 นิ้ว เพียง 2 ใน 3 ส่วน ของกระถางเท่านั้น แล้วใส่ปุ๋ยละลายช้าลงไปในกระถาง ประมาณ 15 กรัมต่อกระถาง แล้วจึงเติมวัสดุปลูกจนเต็มกระถาง
และนำต้นพันธุ์มาปักชำในกระถางให้ครบ 5 ต้น โดยปักเอียงออกนอกขอบกระถาง ประมาณ 45 องศา และชำลงลึกประมาณ 1/3 ของความยาวต้น ปลูกเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนอีกประมาณ 20 วัน จนกว่าจะออกรากและต้นสามารถตั้งตัวได้ จึงนำออกมาปลูกไว้กลางแจ้ง โดยปูพลาสติกดำหรือซาแรนรองบนพื้นป้องกันหญ้าที่จะเกิด
ต้องเด็ดยอด เพื่อให้แตกกอ
หากต้องการให้เบญจมาศกระถางแตกกอดี จะต้องเด็ดยอด เมื่อต้นตั้งตัวได้ดีแล้ว และสูงประมาณ 5-6 เซนติเมตร เมื่อตรวจดูกระถางว่ามีต้นครบหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องปลูกต้นซ่อมให้ครบ แล้วจึงเริ่มเด็ดยอดด้วยมือ ไม่ต้องใช้กรรไกร ก็จะเหลือต้นเบญจมาศเท่ากันทุกต้นในกระถาง เพราะจะทำให้กิ่งแขนงใหม่ที่แตกออกมามีความยาวใกล้เคียงเสมอกันหมด
หลังจากเด็ดยอดเบญจมาศแล้วประมาณ 15 วัน กิ่งแขนงก็จะเริ่มแตกออกมายอดละหลายกิ่ง รดน้ำใส่ปุ๋ยตามปกติจากการเริ่มปลูกตอนเดือนกรกฎาคมแล้วต้นเดือนธันวาคมเบญจมาศกระถางก็ผลิดอกพร้อมจำหน่าย ทางโครงการจะพิถีพิถันในการจำหน่าย เน้นคัดเลือกกระถางที่สวยสมบูรณ์ที่สุด จะต้องมีต้นเบญจมาศครบและออกดอกสมบูรณ์สวยเต็มกระถางดีทั้ง 5 ต้น ตามที่ได้ปลูกไว้ หากไม่ได้สเปกจะต้องคัดออก เพื่อให้มั่นใจว่า เบญจมาศกระถางของโครงการทุกต้นมีคุณภาพสวยสมบูรณ์แบบ
“เบญจมาศกระถาง” ถึงเกษตรกรอยากทำก็ไม่ใช่ทำกันได้ทุกภาคของประเทศไทย จะทำได้แค่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดเท่านั้น เพราะในภาคอื่นความหนาวเย็นของอากาศมีไม่เพียงพอที่จะให้เบญจมาศออกดอกพรั่งพรูสวยงาม แต่ประชาชนหรือเกษตรกรทั่วไป สามารถหาซื้อเบญจมาศกระถางไปปลูกเพื่อดูความสวยงามได่้ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นต้นเบญจมาศก็จะไม่สามารถนำมาปลูกเลี้ยงได้อีก เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นเพียงฤดูเดียว เหมาะสำหรับประดับตกแต่งสถานที่ทั้งกลางแจ้งหรือตกแต่งในอาคารบ้านเรือน เพื่อเพิ่มสีสันบรรยากาศในช่วงเทศกาล หรือวาระสำคัญได้เป็นอย่างดี
หากเกษตรกรกลุ่มใดต้องการไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเบญจมาศกระถาง หรือเบญมาศตัดดอก ในโครงการพัฒนาบ้านโปงตามพระราชดำริ เพื่อนำความรู้นี้ไปปลูกเลี้ยงเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ในชุมชน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-873-850-63