ฤดูแล้งนี้ มีลิสต์ พืชที่ปลูกได้โดยใช้น้ำน้อย 10 ชนิด มาฝากกัน
ในภาวะที่อาจมีปริมาณน้ำจำกัดต่อการเพาะปลูก ยังมี การปลูกพืชน้ำน้อย ซึ่งมีอายุช่วงเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตดี เติบโตได้เองในทุกสภาพดิน โดยวันนี้แอดได้นำ 10 พืชที่ปลูกได้โดยใช้น้ำน้อย ได้ผลผลิตดี มาฝากกัน
คะน้า เป็นพืชใบเขียว กินได้ทั้งใบไปจนถึงก้าน สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่ปลูกได้ผลดีที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน ปริมาณการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
กวางตุ้ง เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกได้ดีในดินทุกชนิดที่มีความชื้นสูง ปริมาณการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ผลผลิตใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณการใช้น้ำ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
มันเทศ เป็นพืชหัวที่ปลูกง่าย ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดเป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี ปริมาณการใช้น้ำ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
พริก เป็นพืชในเขตร้อนหรือกึ่งร้อนที่ทนความแห้งแล้งได้ดี ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง ปริมาณการใช้น้ำ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ถั่วเขียวผิวมัน เป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อย เหมาะกับการปลูกในนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวช่วงเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม การปลูกในฤดูแล้งนี้ไม่เหมาะสมสําหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีอากาศหนาวเย็นเกินไป ปริมาณการใช้น้ำ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่ไม่ต้องคอยรดน้ำใส่ปุ๋ย แต่โตได้ไวมาก ดังนั้น เพาะประมาณ 10 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ปริมาณการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ถั่วฝักยาว ลำต้นเป็นไม้เลื้อย แนะนำให้ปลูกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤศจิกายนจะดีที่สุด ต้นถั่วฝักยาวชอบดินที่ระบายน้ำและอากาศได้ดี ปริมาณการใช้น้ำ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
แตงกวา ควรปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 25 เซนติเมตร หากเป็นช่วงอากาศร้อนคลุมด้วยผ้าพลาสติก ส่วนฤดูอื่นๆ จะใช้ฟางคลุม ปริมาณการใช้น้ำ 560 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
มะระจีน เป็นพืชเถา สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และปลูกขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกประเภท ในดินควรมีความชื้นสูงสม่ำเสมอ และควรได้รับแสงแดดเต็มที่ ปริมาณการใช้น้ำ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่
ทั้งหมดนี้คือพืชที่เหมาะกับการปลูกในภาวะฤดูแล้งหรือมีน้ำน้อยนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ เกษตรกรควรจะมีการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนประเมินความพร้อมของพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพและปริมาณเหมาะสมด้วยค่ะ