ในอดีต ผักกูด มักขึ้นอยู่ตามสวนยางพารา แถวชายน้ำที่พื้นแฉะๆ เด็กบางคนอาจเก็บเอาเฟิร์นติดมาด้วยเพราะลักษณะคล้ายกันจนแยกไม่ออก ถ้าไม่อยากให้ผิดก็เลือกเอาแต่ต้นอวบๆ และยอดยังม้วนอยู่นั่นแหละไม่ผิดแน่ แต่เดี๋ยวนี้สวนยางไม่ค่อยมีผักกูดให้กินแล้วเพราะการปลูกยางพาราแบบสมัยใหม่ สวนจะโล่งเตียนไม่มีผักมีหญ้าให้เก็บกิน
.
หลายคนอาจคิดว่า ผักกูดมีแต่ที่ใต้เท่านั้น เพราะเป็นผักพื้นบ้านภาคใต้ แต่ความจริงแล้ว ภาคเหนือก็มีผักกูดให้เก็บกินเป็นอาหาร แต่วิธีทำกินต่างกันออกไป
.
ผักกูดเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งพื้นที่ชื้นแฉะๆ บริเวณริมชายน้ำปลูกผักกูดได้ดี หรือพื้นที่ธรรมดาให้น้ำเยอะๆ ผักกูดก็ขึ้นได้ ปัจจุบันเกษตรกรหลายคนหันมาปลูกผักกูดเป็นรายได้เสริม เพราะผักกูดเป็นสินค้าขายดี เก็บยอดผักกูดขายได้ทุกวัน ผักกูดโตไว ยิ่งเก็บยิ่งแตกยอด
.
ผักกูดถือว่าเป็นอาหารยั่งยืนอีกอย่างหนึ่ง เพราะปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้ตลอด พวกกินคลีน หรือกินอาหารปลอดภัยน่าจะเลือกผักกูด เพราะว่าเป็นผักที่ไม่ขึ้นในพื้นที่ที่มีสารเคมี ถือเป็นผักธรรมชาติมาก
.
ผักกูดก็เหมือนผักบุ้ง ทำกินได้หลายอย่าง เช่น ผัดหัวทิ (ผัดกับกะทิแทนน้ำมัน) ต้มกะทิรวมกับผักบุ้ง หยวก หรือผักอื่นๆ จิ้มกับน้ำพริกหรือขนมจีน เก็บผักกูดสดๆ มาเด็ดยอด เด็ดใบ ผัดใส่หมูสับ ใส่ในแกงส้ม หรือลวกกินกับน้ำพริก บางคนชอบสดๆ ก็เป็นผักเหนาะได้เลย
.
ผักกูด นอกจากทำเป็นผักดองแล้วยังแปรรูปเป็นผักกูดแห้ง โดยนำผักกูดลวกน้ำร้อนแบบไม่ค่อยสุก แค่พอสะดุ้งน้ำร้อน ผักกูดยังกรอบอยู่แล้วเอาไปวางไว้ ผักกูดจะแห้งคล้ายสาหร่าย เอามาผัดทำกินปรากฏว่าอร่อย เคี้ยวหนึบๆ นิดหนึ่ง กลิ่นเหมือนสาหร่ายญี่ปุ่น สามารถพัฒนาเป็นอาหารแห้งต่อไปได้เลย
.
ที่มา : Face book : Technologychaoban - เทคโนโลยีชาวบ้าน