นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ เกษตรกรจังหวัดกระบี่
องค์ความรู้ที่โดดเด่นเพื่อการจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
1. การลดต้นทุนการผลิต
1) ซื้อพันธุ์ปาล์มจากแปลงเพาะและบริษัทเพาะกล้าปาล์มที่ทำความตกลงกับกลุ่ม เพื่อนำมาคัดต้นกล้าปาล์มก่อนปลูก โดยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 นำเมล็ดซึ่งได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร มาคัดแยกเมล็ดสองหน่อออกจากหน่อเดียวปกติ
ขั้นที่ 2 นำเมล็ดมาเพาะในถุงหรือถาดหลุมเพาะที่เตรียมไว้เมื่ออายุ 3-4 เดือน ทำการคัดทิ้งต้นผิดปกติ ที่มีลักษณะลักษณะ ใบเรียวแคบ ใบหยิก ใบบิด ใบด่าง ใบย่น โดยในช่วงนี้คัดออก 10-15%
ขั้นที่ 3 คัดทิ้งหลังลงถุงใหญ่อนุบาลอายุ 7-8 เดือน ทำการคัดทิ้งต้นผิดปกติ ที่มีลักษณะลักษณะ ต้นเตี้ยมาก ต้นสูงชะลูดมาก ใบย่อยชิดมาก ใบย่อยห่างมาก โดยในช่วงนี้คัดออก 5-10%
ขั้นที่ 4 ช่วงต้นกล้าพร้อมปลูกอายุ10-12 เดือน คัดสรุปอีกครั้งในลักษณะเหมือนเบื้องต้นอีก 3-5% ซึ่งจะทำให้ต้นที่นำไปปลูกสมบรูณ์ปกติทุกต้น เพื่อจะได้ให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกต้นโดยค่าเฉลี่ยที่ต้องคัดทิ้งรวมทั้ง 4 ขั้นตอน 25-30%
2) รวมกลุ่มในการซื้อปุ๋ยเคมีได้ราคาถูกลงและผสมใช้เองภายในกลุ่ม การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ใบ/ดิน และใช้เทคโนโลยีการจัดการระบบน้ำเพื่อให้ผลผลิตออกกระจายตัวสม่ำเสมอทั้งปี
3) ใช้น้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดน้ำของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม แบบร่องปาล์ม 2 แถว ต่อร่องน้ำ 1 ร่อง ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นและสามารถช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยลงได้ เนื่องจากในน้ำมีธาตุอาหารของพืช ได้แก่ ไนโตเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม
4) ใช้เครื่องป่นทางใบปาล์มน้ำมันนำไปใช้เป็นปุ๋ย เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและความชุ่มชื้นในดินให้เพิ่มขึ้น
5) การกำจัดวัชพืช
- ใช้เครื่องตัดหญ้า ต่อพ่วงกับรถไถเพื่อตัดหญ้าในสวนปาล์ม ลดปัญหาด้านแรงงานได้เป็นอย่างดี
- ประยุกต์ใช้สารเคมี ในปริมาณที่เหมาะสมด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง และปลอดภัยในการกำจัดต้นไทรที่ขึ้นอยู่บนต้นปาล์ม ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้ ใช้สารไกลโฟเสท 100 -150 CC. ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ใส่ในขวดพลาสติก ตัดรากไทรที่อยู่ด้านล่างใส่ในขวดสารไกลโฟเสทที่เตรียมไว้แล้วยึดขวดให้ติดไว้กับรากไทร รากของต้นไทรจะดูดสารไกลโฟเสท จะเริ่มแสดงอาการเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ และต้นตายในที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อต้นปาล์มน้ำมัน
- ใช้กับดักฟีโรโมนในการกำจัดด้วงแรดที่จะมากัดทำลายต้นปาล์ม
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการรักษาโรคใบไหม้ในต้นกล้า
6) การใช้เครื่องจักรกลในการใส่ปุ๋ยโดยต่อพ่วงกับรถไถ เพื่อลดต้นทุนในส่วนของค่าแรงงาน ซึ่งอัตราการใช้ปุ๋ยนั้น ใช้แม่ปุ๋ยเป็นหลัก สามารถลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยได้ลง 30% การใช้รถเทเลอร์ต่อพ่วง ช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผลผลิตในสวนปาล์มน้ำมัน ใช้เทเลอร์ต่อพ่วงกับรถไถเพื่อขนส่งผลผลิตปาล์มน้ำมันภายในสวนช่วยให้ง่ายและสะดวกในการลำเลียงผลผลิต มีลานเทขนาดเล็กในสวนปาล์มน้ำมันเพื่อให้สะดวกในการจัดการผลผลิตและการขนส่ง
7) เลี้ยงแพะเพื่อเป็นรายได้เสริมในสวนปาล์มน้ำมัน และนำมูลแพะมาใส่ในสวนปาล์มน้ำมัน มาปรับปรุงบำรุงเพิ่มธาตุอาหารและลดการใช้ปุ๋ยเคมี
2. การเพิ่มผลผลิต
1) นำวิธีบริหารจัดการตามมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (RSPO) เข้ามาใช้ในการจัดการแปลงของตนเองและของสมาชิกแปลงใหญ่ทั้งหมด
2) ผลิตที่ถูกหลักการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP การปฏิบัติที่ถูกหลักการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ซึ่งให้ได้รับการรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. การเพิ่มมูลค่าผลผลิต
1) การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพเพิ่มน้ำหนัก เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันค่าน้ำมัน ปาล์มดิบเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง
- ราคาปาล์มน้ำมันวันนี้ ค่าน้ำมันปาล์มดิบ 17 % กิโลกรัมละ 5.00 บาท
- ราคาปาล์มน้ำมันวันนี้ ค่าน้ำมันปาล์มดิบ 18 % กิโลกรัมละ 5.30 บาท
- ราคาปาล์มน้ำมันวันนี้ ค่าน้ำมันปาล์มดิบ 19 % กิโลกรัมละ 5.60 บาท
- ราคาปาล์มน้ำมันวันนี้ ค่าน้ำมันปาล์มดิบ 20 % กิโลกรัมละ 5.90 บาท
- ราคาปาล์มน้ำมันวันนี้ ค่าน้ำมันปาล์มดิบ 21 % กิโลกรัมละ 6.20 บาท
ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำมันดิบต่ำกว่าจะลดลงราคา 0.30 สตางค์ต่อกิโลกรัม การที่จะได้ ค่าเปอร์เซ็นต์น้ำมันดิบ 21 % ต้องเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพสุกทุกทะลาย พร้อมลูกร่วง ตลอดระยะเวลา 30 ปี นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ได้ศึกษาเก็บข้อมูลปาล์มน้ำมันให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยทำการทดลองเปรียบเทียบตามระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ใกล้สุก พอเหลืองซีดๆ
ระยะที่ 2 สุกเหลืองแบบขมิ้น
ระยะที่ 3 สุกสีส้มมีน้ำมัน ลูกร่วงหล่น 3-5 เมล็ด
โดยวิธีการตัดในต้นเดียวกัน ทั้ง 3 ระยะ แล้วมาชั่งน้ำหนัก จำนวน 15 ต้น เป็นเวลา 3 ปี สรุปได้ว่า ระยะที่ 3 มีน้ำหนักเฉลี่ย 8 -10 % ของปริมาณน้ำหนักทะลาย เช่น
ระยะที่ 1 เก็บเกี่ยว ได้น้ำหนัก 20 กิโลกรัม
ระยะที่ 2 เก็บเกี่ยว ได้น้ำหนัก 20.5 กิโลกรัม
ระยะที่ 3 เก็บเกี่ยว ได้น้ำหนัก 22 กิโลกรัม
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มสุกร่วง 3-5 เมล็ด มีน้ำหนักเพิ่ม 2 กิโลกรัมหรือประมาณ 10% และจะเพิ่มน้ำมันอีกด้วย เพราะจากการที่เราเก็บเกี่ยวปาล์มสุก จะส่งผลให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันดิบที่สูงขึ้นและราคาและน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง
การเพิ่มน้ำหนักและราคา (พร้อมเปรียบเทียบ)
- เก็บเกี่ยวระยะที่ 1 ทะลายปาล์มน้ำมัน น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ได้ประมาณ 16% ราคา 4.75 บาท 20x4.75 = 95 บาทต่อ 1 ทะลาย
- เก็บเกี่ยวระยะที่ 3 ทะลายปาล์มน้ำมัน น้ำหนัก 22 กิโลกรัม ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 20% ราคา 5.90 บาท 22x5.90 = 128.80 บาทต่อ 1 ทะลาย
ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่างกัน = 129.80 - 95.00 = 34 บาทต่อ 1 ทะลาย ถ้าน้ำหนักทะลายมากกว่านั้น เราจะสูญเงินไปมากกว่า 34 บาท ถ้าสมมุติต้นหนึ่งให้ผลผลิต 9 ทะลาย (คิดทะลายที่ 20 กิโลกรัม) จะสูญเงินไปต่อต้น 9x34 = 306 บาท ถ้าไร่ละ 22 ต้น 22x306 = 6,732 บาทต่อไร่
ถ้าเก็บเกี่ยวปาล์มระยะที่ 1 ผลผลิตต่อไร่ ได้ 3,000 กิโลกรัม แต่ถ้าเก็บเกี่ยวระยะที่ 3 จะได้ผลผลิตเพิ่ม 10% คือ 3,300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการเก็บเกี่ยวปาล์มสุกระยะที่ 3 เท่านั้น และส่งผลให้ภาพรวมของประเทศ มีค่าน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
หมายเหตุ ข้อมูล ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2561
2) การเก็บเกี่ยวผลผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรทะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ.5702 – 2552) และมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (RSPO) ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่การรับทะลายปาล์มน้ำมัน การเก็บรักษา รวมถึงกระบวนการขนส่งทะลายปาล์มน้ำมัน ไปยังโรงงานสกัดน้ำมัน เพื่อให้ทะลายปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะแก่การใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานสกัดน้ำมัน
4. การบริหารจัดการ
1) การบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี โดยการจดบันทึกต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิต รายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน ที่ครบถ้วน ทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงและวางแผนการทำสวนปาล์มน้ำมันให้เข้ากับสภาพการผลผลิตและการตลาดในปัจจุบัน
2) การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อนการเตรียมพื้นที่มีการศึกษาสภาพของพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ สวนปาล์มน้ำมัน ได้แก่ การศึกษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำห้วย การพัฒนาเป็นฝาย เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในสวนปาล์ม
- สภาพพื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมันที่มีลักษณะเป็นโซนพื้นที่ลุ่ม จะมีการขุดน้ำไว้ทุกจุดเพื่อเป็นการเก็บกักน้ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นภายในสวนปาล์มและยังเป็นการเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้งอีกด้วย
- ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง โดยมีการปลูกไผ่เพื่ออนุรักษ์หน้าดินและป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้ด้วย
- ไม่ใช้ไฟเผาในการเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ แต่ใช้วิธีการสับต้นปาล์มน้ำมันแล้วกระจายไว้ในสวนเพื่อไถกลบและใช้เป็นอินทรียวัตถุได้ต่อไป
3) การประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการ เช่น การจัดการพื้นที่มีการประยุกต์ใช้วัสดุที่ทำจากถุงปูนซีเมนต์ชุบยางมะตอยปูพื้นรอบโคนต้นปาล์ม เพื่อกำจัดวัชพืชในระยะยาวและลดอัตรา การสูญเสีย ปุ๋ยอันอาจเกิดจากการชะล้างของหน้าดินและเป็นการรักษาความชื้นในดินด้วย