แผนการเฝ้าระวังและชี้แนะอาหารนำเข้าประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น 2563 (Imported Foods Monitoring and Guidance Plan for FY2020)
15 เม.ย. 2563
705
481

แผนการเฝ้าระวังและชี้แนะอาหารนำเข้าประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น 2563 (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564)
Imported Foods Monitoring and Guidance Plan for FY2020

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW) เผยแพร่แผนการเฝ้าระวังและชี้แนะอาหารนำเข้าประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น 2563 (เมษายน 2563 - มีนาคม 2564) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายสุขอนามัยอาหาร มาตราที่ 23 วรรค 1 ครอบคลุมอาหาร สารเติมแต่ง อุปกรณ์ ภาชนะและของเล่น ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ

สรุปสาระสำคัญแนวทางการดำเนินการภายใต้แผนฯ

1. MHLW จะแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับการดูแลสุขอนามัยอาหารของญี่ปุ่นให้แก่สถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว ผู้นำเข้า เจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศผู้ส่งออก และผู้ผลิต รวมถึงจะนำข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ MHLW นอกจากนี้จะดำเนินการหารือกับประเทศผู้ส่งออก เดินทางไปสำรวจ และจัดทำความร่วมมือด้านเทคนิค เพื่อส่งเสริมมาตรการดูแลด้านสุขอนามัยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและการแปรรูป ณ ประเทศผู้ส่งออก 

- เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ตั้งแต่ต้นทาง (ประเทศผู้ส่งออก) MHLW จะ 1) ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับการดูแลสุขอนามัยอาหารทางเว็บไซต์ ตลอดจนจัดการประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว การอบรมโดย JICA และการประชุมชี้แจง ณ ประเทศผู้ส่งออก 2) ประชุมหารือกับประเทศผู้ส่งออกเกี่ยวกับอาหารฯ นำเข้าภายใต้คำสั่ง Order Inspection และอาหารฯ นำเข้าที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะฝ่าฝืนกฎหมายฯ ควบคู่ไปกับการเดินทางไปสำรวจยังประเทศผู้ส่งออกสำหรับประเทศที่ส่งออกอาหารฯ มายังญี่ปุ่นจำนวนมาก ประเทศภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ประเทศผู้ส่งออกที่ตรวจพบอาหารฯ นำเข้าฝ่าฝืนกฎหมายฯ จำนวนมาก 3) ดำเนินความร่วมมือทางเทคนิคกับประเทศผู้ส่งออกเพื่อยกระดับระบบควบคุมดูแล ณ ประเทศต้นทาง และ 4) ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฯ ที่มีการแก้ไข โดยส่งเสริมมาตรการควบคุมดูแลด้านสุขอนามัยอาหาร ณ ประเทศผู้ผลิต (ผู้ส่งออก) สำหรับเนื้อสัตว์และเครื่องในของสินค้าปศุสัตว์ที่มี HACCP เป็นเงื่อนไขในการนำเข้า นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่กำหนดให้แนบเอกสารรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ฯลฯ

2. หากพบการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสุขอนามัยอาหาร MHLW จะดำเนินมาตรการยกระดับการตรวจตอนนำเข้า และจะประกาศเผยแพร่การฝ่าฝืนตามมาตราที่ 63 แห่งกฎหมายฯ 

3. หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นในการป้องกันการเกิดอันตรายด้านสุขอนามัยอาหารจากอาหารฯ ที่นำเข้าจากประเทศหรือภูมิภาคหนึ่ง หรือผลิตโดยผู้ประกอบการหนึ่ง MHLW จะใช้มาตรการห้ามการนำเข้าในภาพรวมตามมาตราที่ 8 วรรค 1 และมาตราที่ 17 วรรค 1 แห่งกฎหมายฯ

- หากอาหารฯ นำเข้าซึ่งผลิตโดยประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคหนึ่ง หรือผู้ประกอบการรายหนึ่ง มีอัตราการฝ่าฝืนกฎหมายฯ สูงกว่าร้อยละ 5 ประกอบกับมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการนำเข้าอาหารฯ ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายฯ อีก ภายหลังการพิจารณาระดับความอันตรายต่อผู้บริโภคแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการเกิดอันตรายด้านสุขอนามัยจากอาหารฯ ดังกล่าว รมว. MHLW จะรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการสุขอนามัยยาและอาหาร และสั่งให้ใช้มาตรการห้ามการนำเข้า

4. MHLW จะให้การชี้แนะผู้ประกอบการนำเข้าที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ซ้ำหลายครั้ง เพื่อแก้ไขสาเหตุแห่งการฝ่าฝืน และหากมีความจำเป็น จะออกคำสั่งห้ามหรือระงับการประกอบธุรกิจของผู้นำเข้ารายดังกล่าวตามมาตราที่ 55 วรรค 2 แห่งกฎหมายฯ

5. ด่านสาธารณสุขจะดำเนินการยืนยันการปฏิบัติตามกฎหมายฯ เช่น การปฏิบัติตามมาตรฐานและเงื่อนไข โดยตรวจสอบเอกสารยื่นขอนำเข้า (มาตราที่ 27 แห่งกฎหมายฯ) ความสอดคล้องของสินค้าที่นำเข้าจริงและรายละเอียดตามเอกสารตามมาตราที่ 11 วรรค 1 และมาตราที่ 18 วรรค 1 แห่งกฎหมายฯ

- ต้องไม่ใช่อาหารและสารเติมแต่งที่ห้ามจำหน่ายตามมาตราที่ 6 แห่งกฎหมายฯ
- ต้องไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่เป็นโรคตามมาตราที่ 9 วรรค 2 แห่งกฎหมายฯ
- ต้องไม่ใช่อุปกรณ์หรือภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่มีพิษหรือมีอันตรายตามมาตราที่ 16 แห่งกฎหมายฯ
- ต้องไม่ใช่สิ่งที่ห้ามการนำเข้าตามมาตราที่ 8 วรรค 1 และมาตราที่ 17 วรรค 1 แห่งกฎหมายฯ
- ต้องเป็นสารเติมแต่งและอาหารที่เป็นไปตามมาตรฐานและเงื่อนไขตามมาตราที่ 10 แห่งกฎหมายฯ
- หากมีความจำเป็นอาจให้ผู้ประกอบการนำเข้าแสดงเอกสารใบรับรองที่ออกโดยรัฐบาลประเทศผู้ส่งออก รายงานของผู้นำเข้า และการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐบาล

6. ด่านสาธารณสุขจะดำเนินการ Monitoring Inspection ตามแผนที่กำหนด เพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังความปอลดภัยอาหารฯ ที่มีการนำเข้าอย่างหลากหลาย

- MHLW จัดทำแผน Monitoring Inspection กำหนดจำนวนการตรวจโดยคำนวณตามอัตราการตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวนการยื่นขอนำเข้า ปริมาณการนำเข้า ผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคเมื่อมีการฝ่าฝืน เป็นรายผลิตภัณฑ์อาหาร ตามหลักวิชาสถิติ
- ในปีงบประมาณ 2563 มีกำหนดตรวจ Monitoring Inspection ทั้งสิ้น 99,700 รายการ เพิ่มขึ้น 700 รายการ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา 
- ด่านสาธารณสุขจะจัดทำแผน Monitoring Inspection ตามจำนวนที่ได้รับมอบหมายจาก MHLW 
- MHLW จะสั่งการให้ด่านสาธารณสุขยกระดับการตรวจอาหารฯ นำเข้า หากมีการเรียกเก็บคืนอาหารฯ ณ ประเทศผู้ส่งออก หรือได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือมีการตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายจากการตรวจ Monitoring Inspection หรือจังหวัดฯ มีการตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ในขั้นตอนเฝ้าระวังและชี้แนะ
- ในส่วนของการยกระดับการตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง จะเพิ่มอัตราการตรวจอาหารฯ นำเข้าในรายการที่เข้าข่าย เพื่อให้สามารถตรวจสอบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ในระดับความเชื่อมั่นหนึ่งตามหลักสถิติได้
- MHLW จะยกเลิกการยกระดับ Monitoring Inspection เมื่อ 1) มีการสืบหาสาเหตุการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ในประเทศผู้ส่งออก และมีการกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำ เช่น การกำหนดข้อบังคับใหม่ ระบบควบคุมดูแลด้านสารเคมีทางการเกษตรใหม่ หรือการยกระกับการตรวจ ที่มีผลในการปฏิบัติจริง หรือ 2) หลังจากมีการยกระดับ Monitoring Inspection แล้วเป็นเวลา 1 ปี หรือมีการตรวจมากกว่า 60 กรณีขึ้นไป และไม่พบการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอีก
- นอกเหนือจาก Monitoring Inspection แล้ว ด่านสาธารณสุขจะตรวจ Administrative Inspection ตามความจำเป็น หากผู้ประกอบการนำเข้าอาหารฯ ที่ไม่เคยนำเข้ามาก่อนเป็นครั้งแรก หรือเป็นอาหารฯ ที่การดูแลด้านสุขอนามัยมีความสำคัญเป็นพิเศษ ณ ประเทศผู้ส่งออก หรือมีอุบัติเหตุระหว่างการขนส่ง ฯลฯ

7. ด่านสาธารณสุขจะสั่งให้มีการตรวจอาหารฯ นำเข้าที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะฝ่าฝืนกฎหมายฯ ตามมาตราที่ 26 วรรค 2 และ 3 เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายด้านสุขอนามัยอาหาร

- หาก รมว. MHLW พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีการป้องกันการเกิดอันตรายด้านสุขอนามัยอาหาร สำหรับอาหารฯ นำเข้าที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะฝ่าฝืนกฎหมายฯ MHLW จะสั่งให้มีการตรวจ Order Inspection เมื่อ 1) เกิดอันตรายแล้วต่อสุขภาพผู้บริโภคในประเทศผู้ส่งออกหรือในประเทศญี่ปุ่น หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือผลการตรวจ Monitoring Inspection ของอะฟลาทอกซิน หรือจุลินทรีย์ก่อโรค (Pathogenic Microorganism) พบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ 2) ในส่วนของสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง มีการตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ หลายครั้ง ในอาหารฯ นำเข้าที่ผลิตหรือแปรรูปโดยผู้ประกอบการรายดังกล่าว หรือนำเข้าจากประเทศดังกล่าว จากการตรวจ Monitoring Inspection โดยจะสั่งให้ตรวจ Order Inspection ในอาหารฯ รายการดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วนขึ้นอยู่กับข้อบังคับในการส่งออก ระบบการควบคุมด้านสุขอนามัย ประวัติการปฏิบัติตามกฎหมายในการนำเข้าอาหารฯ รายการดังกล่าว
- MHLW จะยกเลิก Order Inspection และกลับไปใช้ระบบการตรวจตามปกติ ก็ต่อเมื่อ 1) มีการสืบหาสาเหตุการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ในประเทศผู้ส่งออก และมีการกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำ เช่น การกำหนดข้อบังคับใหม่ ระบบควบคุมดูแลด้านสารเคมีทางการเกษตรใหม่ หรือการยกระกับการตรวจ ที่หารือร่วมกับประเทศผู้ส่งออก หรือเดินทางไปตรวจยังประเทศผู้ส่งออก หรือตรวจสอบตอนนำเข้าแล้ว ยืนยันว่าได้ผลในการปฏิบัติจริง หรือ 2) กรณีเป็น Order Inspection สารเคมีทางการเกษตรตกค้าง ภายหลังมีการแจ้ง Order Inspection แล้ว ผ่านระยะเวลาไป 2 ปีนับจากการตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ครั้งหลังสุด โดยไม่พบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ อีก หรือตรวจไม่พบอีกในระยะเวลา 1 ปี และมีการตรวจ Order Inspection มากกว่า 300 กรณีขึ้นไป โดยหลังจากมีการยกเลิก Order Inspection จะมีการเพิ่มอัตราการตรวจ Monitoring Inspection เพื่อให้สามารถตรวจสอบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ในระดับความเชื่อมั่นหนึ่งตามหลักสถิติได้ ซึ่งหากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ จะกำหนดการตรวจ Order Inspection โดยทันที

8. ด่านสาธารณสุขจะจัดให้มีการอบรมและการให้คำแนะนำก่อนนำเข้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการดูแล

9. หากพบการฝ่าฝืนกฎหมายฯ ด่านสาธารณสุขจะออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการนำเข้าทำลาย ขนกลับ หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการรับประทาน ควบคู่ไปกับการขอให้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแนวทางป้องกันการเกิดซ้ำ

10. เมื่อสินค้าผ่านการนำเข้าและได้รับการกระจายไปในประเทศญี่ปุ่น ให้จังหวัด อำเภอที่มีสำนักงานอนามัย และเขตพิเศษ เป็นผู้เฝ้าระวังและชี้แนะ โดยหากมีการตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย MHLW จะร่วมกับสำนักงานอนามัยและจังหวัดฯ ดำเนินการให้ผู้ประกอบการนำเข้าดำเนินมาตรการ เช่น การเรียกเก็บคืน อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว 

รายละเอียดเพิ่มเติมตามเอกสารแนบ

รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW)
https://www.mhlw.go.jp/stf/newpage_10479.html

ตกลง