ส่องมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่น 2566
21 มิ.ย. 2567
330
0
ส่องมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่น 2566
ส่องมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่น 2566

ส่องมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่น 2566


ในปี 2566 ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้ผลสดจากประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 1,428 ล้านเยน หรือประมาณ 357 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว "มะม่วง" เป็นผลไม้ที่ทีมูลค่านำเข้าสูงที่สุดโดยคิดเป็น 717 ล้านเยน หรือครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลไม้ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากประเทศไทย มาดูกันว่าเมื่อเทียบกับมะม่วงที่นำเข้าจากประเทศอื่นแล้ว มะม่วงไทยอยู่ตรงไหนในตลาดญี่ปุ่น


ญี่ปุ่นปลูกมะม่วงได้เองในบางพื้นที่ของประเทศ ได้แก่ จังหวัดโอกินาวะและจังหวัดมิยาซากิ ซึ่งมีภูมิอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่นกว่าจังหวัดอื่น การปลูกมักนิยมปลูกในโรงเรือนและส่วนใหญ่เป็นมะม่วงพันธุ์เออร์วินที่มีราคาค่อนข้างแพง ชาวญี่ปุ่นมักนิยมซื้อมะม่วงที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเป็นของขวัญให้ในช่วงเทศกาล


ในแง่ของปริมาณนำเข้า ในปี 2566 ญี่ปุ่นนำเข้ามะม่วงจากต่างประเทศรวม 6,634 ตัน มะม่วงจากเม็กซิโกมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด จำนวน 2,851 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองมาได้แก่ เวียดนาม 1,076 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16 และไทยครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15 ปริมาณนำเข้า 978 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับเวียดนาม แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ไต้หวัน เปรู ปากีสถาน บราซิล ฯลฯ


เมื่อเทียบมูลค่าต่อหน่วยนำเข้าแล้วพบว่า มะม่วงจากเวียดนามมีราคาถูกที่สุด หรือ 390 เยนต่อกิโลกรัม รองลงมาได้แก่ มะม่วงจากเม็กซิโก ราคา 536 เยนต่อกิโลกรัม ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เม็กซิโกและเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในส่วนของมะม่วงนำเข้าจากไทยมีราคานำเข้าต่อหน่วยเฉลี่ย 717 เยนต่อกิโลกรัม สูงกว่าเวียดนามและเม็กซิโกร้อยละ 84 และร้อยละ 34 ตามลำดับ


สำหรับช่วงเวลานำเข้ามะม่วงจากประเทศต่างๆ พบว่า สำหรับแหล่งผลิตที่อยู่ในซีกโลกใต้ญี่ปุ่นจะเน้นนำเข้าในช่วงปลายปี - ต้นปีซึ่งตรงกับฤดูหนาวของญี่ปุ่น ขณะที่ มะม่วงจากแหล่งผลิตในภูมิภาคเอเชีย เช่น เวียดนาม ไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นจะนำเข้าในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ - ต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นขาดผลไม้ที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ มะม่วงของไทยมีการนำเข้าเกือบทั้งปีแต่จะกระจุกตัวอยู่ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูงและตรงกับช่วงที่ผลผลิตในประเทศไทยออกสู่ตลาดจำนวนมาก

อีกปัจจัยหนึ่งที่มักส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคา ได้แก่ การกำหนดภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลกระทรวงการคลังญี่ปุ่นพบว่า มะม่วงจากเกือบทุกแหล่งนำเข้าได้รับการยกเว้นภาษี (หรือ 0%) มีเพียงมะม่วงจากไต้หวันและบราซิลเท่านั้นที่มีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้ที่ร้อยละ 3 ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก


ในส่วนของการตรวจกักกันสินค้ามะม่วงผลสด ณ ด่านนำเข้า มะม่วงจากทุกประเทศจะต้องผ่านการตรวจหาโรคและแมลงศัตรูพืช ณ ด่านพืชโดยกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น จากนั้นจะต้องผ่านการตรวจหาสารตกค้างซึ่งปกติจะมีการสุ่มตรวจร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม สำหรับมะม่วงที่นำเข้าจากประเทศไทยทางกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ได้สั่งให้มีการตรวจทุกรุ่นสำหรับสารคลอร์ไพริฟอสและสารโพรพิโคนาโซล (ยกเว้นผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานต้นทาง) และยกระดับการสุ่มตรวจเป็นร้อยละ 30 สำหรับสารไดฟีโคนาโซล นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ยังได้สั่งให้มีการตรวจทุกรุ่นสำหรับสารคลอร์ไพริฟอสและสารเฟนโทเอตในมะม่วงที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์อีกด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สำหรับเงื่อนไขการนำเข้ามะม่วงที่กำหนดโดยกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น มีลักษณะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะมีการอนุญาตให้นำเข้าเป็นรายสายพันธุ์ และแต่ละประเทศจะกำหนดวิธีการหรือมาตรการกำจัดศัตรูพืชกักกันที่แตกต่างกัน ในส่วนของประเทศไทย มะม่วงที่จะนำเข้ามายังประเทศญี่ปุ่นจะต้องผ่านการอบไอน้ำ และอนุญาตให้นำเข้าได้ 7 สายพันธุ์ ได้แก่ น้ำดอกไม้ มหาชนก หนังกลางวัน แรด เขียวเสวย โชคอนันต์ และพิมเสนแดง

โดยสรุปแล้วมะม่วงเป็นผลไม้ที่มีรสชาติตรงกับรสนิยมการบริโภคของชาวญี่ปุ่น (หวานอมเปรี้ยว) และช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดตรงกับช่วงที่ตลาดญี่ปุ่นขาดผลไม้ที่ผลิตในประเทศ ดังนั้น มะม่วงยังคงเป็นสินค้าที่นับว่ามีโอกาสในตลาดญี่ปุ่นถึงแม้ว่าจะเผชิญการแข่งขันด้านราคากับมะม่วงจากประเทศอื่นๆ การสร้างความแตกต่างในแง่ของความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคนับเป็นอีกแนวทางสำคัญหนึ่งในการรักษาและขยายตลาดมะม่วงไทยในอนาคต นอกจากนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้ามะม่วงหั่นสำเร็จแช่แข็งจากประเทศไทยจำนวนมากซึ่งสอดคล้องกับแบบแผนการใช้ชีวิตและแบบแผนการบริโภคของชาวญี่ปุ่นที่ปรับเปลี่ยนไป

ตกลง
กำลังโหลดเนื้อหา กรุณารอสักครู่...