ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 จังหวัดอุบลราชธานี
25 เม.ย. 2567
127
94

 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 จังหวัดอุบลราชธานี      

       ไตรมาส 1 ปี 2567 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ที่ระดับ 143.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีของปศุสัตว์และประมง จึงส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตร สาขาปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ กระบือ และไข่ไก่ ซึ่งสาขาประมง เพิ่มขึ้นทั้งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและจับสัตว์น้ำจืดธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะเลี้ยง ส่วนสาขาพืช ลดลงร้อยละ 0.5 จากผลผลิตสินค้าเกษตร ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวเจ้านาปรัง ข้าวเหนียวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ สภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศร้อนจัด เกิดภาวะภัยแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่วนดัชนีราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ระดับ 92.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 

        โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาขาพืช หดตัวร้อยละ 0.2 และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.1 ส่วนสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.4 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 และสาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 1.3 สัดส่วนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ พบว่า สาขาพืช มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 71.1 รองลงมาคือ สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร สาขาประมง และสาขาป่าไม้ คือ ร้อยละ 16.1, 9.0, 3.7 และ 0.1 ตามลำดับดังนี้

           1) สาขาบริการทางการเกษตร -0.1%  :   เกษตรกรมีการลดพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงส่งผลให้การจ้างบริการทางการเกษตรการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวลดลง

           2) สาขาปศุสัตว์ 1.6%  : การผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ กระบือ และไข่ไก่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการและมีการปรับระบบการเลี้ยง ตามมาตรการภาครัฐ มีการส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เพิ่มมากขึ้น

           3) สาขาพืช -0.2%  :  เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ สภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณน้ำไม่เพียงต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง

          4) สาขาประมง 1.3%  :  ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะเลี้ยง ความต้องการของผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อปลาเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงส่งผลให้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำจืดธรรมชาติเพิ่มขึ้น

          5) สาขาป่าไม้ 2.4%  :  ไม้ยูคาลิปตัสมีอายุครบรอบตัดฟัน ถือเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร ในช่วงหลังฤดูการทำนา และมีพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสมีมากขึ้น

 

ที่มา :  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 

ตกลง