มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ข้อกฎหมายด้านการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation (EUDR))
โดย นางสาวอริสราวัลย์ ธนาสินสิริ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นำเสนอว่า สหภาพยุโรปประกาศบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยกฎระเบียบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ คือ
1) หลีกเลี่ยงไม่ให้มีการซื้อ ใช้ และบริโภคสินค้าของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปที่ก่อให้เกิดการทำลายป่า
2) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการบริโภคและผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรป อย่างน้อย 32 ล้านเมตริกตันต่อปี
3) จัดการกับการทำลายป่าทุกประเภทที่เกิดจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อผลิตสินค้าที่อยู่ในขอบเขตของกฎระเบียบฯ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้กับผู้ประกอบการและผู้ค้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และจะบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม
ในวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ทั้งนี้ กฎระเบียบฯ ครอบคลุมสินค้า จำนวน 7 รายการ คือ ยาง ไม้ ปาล์มน้ำมัน กาแฟ โกโก้ โค และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสินค้าดังกล่าวด้วย โดยได้กำหนดให้สินค้าภายใต้กฎระเบียบฯ ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลัก จำนวน 3 ข้อ คือ
1) เป็นสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าหรือสร้างความเสื่อมโทรมของป่า หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2) ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ผลิต
3) มีตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ผู้ประกอบการและผู้ค้า จะต้องจัดทำและยื่นเอกสาร Due Diligence Statement ผ่านระบบ Information system ของสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ผลกระทบและโอกาสจากการประกาศใช้กฎระเบียบฯ อาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้า สร้างภาระและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม และเกษตรกรรายย่อยของไทย โดยในปัจจุบัน สินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบ EUDR มากที่สุด จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค (ทีเอสเอ็นอาร์) และกาแฟที่ไม่ได้คั่วไม่ได้แยกเอาคาเฟอีนออก นอกจากนี้ สหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุม ข้าวโพด ข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดยประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการจัดทำระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ได้ต่อไป
แนวทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวเพื่อรองรับข้อกฎหมายด้านการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า
1. นายสงขลา จุลกะเศียน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร)สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้นำเสนอ ความเป็นมาของกฎระเบียบ EUDR ในระยะเริ่มแรกแนวทางและมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปใช้แนวทางสมัครใจ โดยการสนับสนุนฉลากสินค้ายั่งยืน ต่อมาในปี พ.ศ.2562 สหภาพยุโรปประกาศกรอบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาว (EU Green Deal) และในปี พ.ศ. 2564 คณะกรรมธิการยุโรปเสนอร่างกฎระเบียบ EUDR และเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 สหภาพยุโรปประกาศบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และจะทำการประเมินระดับความเสี่ยงประเทศผู้ผลิตในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าด้วย ซึ่งท่าทีของประเทศไทย และประเทศอื่นต่อกฎระเบียบ EUDR ประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตร รวม 17 ประเทศ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านกฎระเบียบ EUDR เพื่อแสดงความกังวลว่ากฎระเบียบ EUDR อาจเป็นอุปสรรคทางการค้า และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซียกำลังร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการจัดทำแนวทางสำหรับเกษตรกรรายย่อยเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ในการนี้ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ให้เร่งพัฒนาระบบ National Traceability Database สำหรับสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้ EUDR และปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ 2) เตรียมความพร้อมของผู้ส่งออกโดยแยกสินค้าตามระดับความเสี่ยงและจัดทำระบบรับรองการไม่ทำลายป่า 3) ยกระดับอุตสาหกรรม สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการจัดทำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของที่ดินและแผนที่พิกัดของพื้นที่เพาะปลูก 4) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยได้รับการรับรองมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในยุโรป เช่น FSC, Rainforest Alliance หรือ UTZ เป็นต้น ซึ่งอาจช่วยลดภาระการตรวจสอบของ EU Importers และ 5) ประเทศไทยควรผลักดัน ให้มีการหารือทวิภาคีกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อให้ไทยได้รับสถานะประเทศที่มีความเสี่ยงประเทศผู้ผลิต ในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าระดับต่ำ
2. นางบุณยนุช ศรีบุญแก้ว นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 7 ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอ การเตรียมตัวของเกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อรองรับกฎระเบียบ EUDR โดยให้เกษตรกรเตรียมเอกสารหลักฐานแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลการผลิต และระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแปลงปลูก พร้อมทั้ง ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลของเกษตรกรเพื่อที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และจัดทำข้อมูลสินค้า พิกัด ตั้งแต่รับวัตถุดิบเข้ากระบวนการผลิตจนถึงส่งออก โดยให้แยกผลผลิตจากแปลงปลูกที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ออกจากผลผลิตจากแปลงปลูกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ให้ชัดเจน พร้อมทั้ง ทำการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและลดความเสี่ยง ในการนี้ การยางแห่งประเทศไทยได้รับลงทะเบียนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการผลิตยางพารา พบว่า
มีเกษตรกรรายย่อยขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1.8 ล้านแปลง เป็นพื้นที่ จำนวน 16.59 ล้านไร่ แบ่งเป็น แปลงปลูกที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 1.7 ล้านแปลง และแปลงปลูกไม่มีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 0.41 ล้านแปลง ทั้งนี้ ได้มีการบันทึกข้อมูล ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแปลงปลูก จำนวน 1.78 ล้านแปลง คิดเป็นร้อยละ 95.09 ของแปลงปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยและกลุ่มชาวสวนยางพารา ลงทะเบียน บันทึกข้อมูลการเก็บผลผลิตน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย จำนวน 1,110 กลุ่ม เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถทำการค้ากับผู้ประกอบการผลิตสินค้าจากยางพาราให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR ได้
3. นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้านยางพารา อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำเสนอ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเปลี่ยนจากการปลูกยางพาราแบบพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชแบบผสมผสาน มีรูปแบบการปลูกยางพารา แบบพืชร่วมยาง จำนวน 4 รูปแบบต่อพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ได้แก่ 1) ยางพารา ระยะปลูก 3×9 เมตร จำนวน 59 ต้น ร่วมกับต้นไม้อื่นๆ และพืชเสริม จำนวน 207 ต้น 2) ยางพารา ระยะปลูก 4×10 เมตร จำนวน 40 ต้น ร่วมกับต้นไม้อื่นๆ และพืชเสริม จำนวน 180 ต้น 3) ยางพารา ระยะปลูก 4×8 เมตร จำนวน 50 ต้น ร่วมกับต้นไม้อื่นๆ และพืชเสริม จำนวน 220 ต้น และ 4) ยางพารา ระยะปลูก 4×9 เมตร จำนวน 44 ต้น ร่วมกับต้นไม้อื่นๆ และพืชเสริม จำนวน 200 ต้น อีกทั้ง ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ดไมคอร์ไรซาโปปลูกร่วมกับพืชเกษตรและไม้ผลในโครงการชุมชนไม้มีค่า ทั้งนี้ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ให้การรับรองกิจกรรมปลูกไม้มีค่าเป็นโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งประเมินว่าสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ 1,927.614 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนให้ใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำและสร้างบ่อน้ำจากการยางแห่งประเทศไทย และมีเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อช่วยในการควบคุมโรคพืชโดยบันทึกกิจกรรมทางการเกษตรทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันสนับสนุนการผลิตเพื่อติดตามต้นทุนและกำไรในแต่ละกิจกรรม
จากการเสวนา เรื่อง แนวทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวเพื่อรองรับข้อกฎหมายด้านการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า วิทยากรได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ได้แก่
1) หน่วยงานควรเตรียมความพร้อมด้วยการให้ความรู้เจ้าหน้าที่เพื่อสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรได้
2) ควรมีการจัดทำข้อมูลตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
3) ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเข้มงวดขึ้น
ที่มา : กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์