ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 ขยายตัว ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสาขาประมงขยายตัว ร้อยละ 4.5 และสาขาปศุสัตว์ขยายตัว ร้อยละ 1.4 ในขณะที่สาขาบริการทางการเกษตรหดตัว ร้อยละ 2.0 สาขาพืชหดตัว ร้อยละ 0.1 และสาขาป่าไม้หดตัว ร้อยละ 0.1 โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบในด้านบวกต่อภาคเกษตร ได้แก่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม รวมทั้งการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดสัตว์อย่างดี ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่องของภาครัฐ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ปี 2566 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสาขาประมงและปศุสัตว์ ที่มีปริมาณการผลิตจับสัตว์น้ำจืดจากธรรมชาติ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ไข่ไก่ สุกร โคเนื้อ กระบือ และไก่พื้นเมือง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 และดัชนีรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.4) – (-0.4) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญที่คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ได้แก่ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ราคาปัจจัยการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสาขาพืช คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.8) – (-0.8) และสาขาบริการทางการเกษตร คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.7) – (-2.7) ส่วนสาขาปศุสัตว์ คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 – 1.1 สาขาประมง คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และสาขาป่าไม้ คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.3) – 0.7
รายละเอียดตามไฟล์เอกสาร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3