ระวัง เพลี้ยหอยเกล็ดขาว (Aonidomytilus albus) ในมันสำปะหลัง
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน บางพื้นที่มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เตือนผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือเพลี้ยหอยเกล็ดขาว (Aonidomytilus albus)
ตัวเต็มวัยเพศเมีย มีแผ่นคล้ายเปลือกหอยแมลงภู่ สีขาวปกคลุมลำตัว รูปร่างยาวรี เมื่อเปิดแผ่นปกคลุมลำตัวขึ้น จึงจะพบตัวเพลี้ยหอยเกล็ดขาวซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก ลำตัวสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณลำต้น ก้านใบ และหลังใบ ทำให้ใบเหลืองและร่วง หากมีเพลี้ยหอยเกล็ดขาวปกคลุมทั้งลำต้น จะทำให้ต้นแห้งตายได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
ก่อนปลูก
1. ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากเพลี้ยหอยเกล็ดขาว
2. ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์ที่มีเพลี้ยหอยเกล็ดขาวเข้าทำลาย ให้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 83% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออิมิดาคลอพริด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ท่อนพันธุ์นาน 10 นาที ผึ่งให้แห้งก่อนปลูก
หลังปลูก
หมั่นสำรวจการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดขาว ถ้าพบการระบาด ให้ทำการป้องกันกำจัด ดังนี้
1. ถอนต้นมันสำปะหลังที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดขาว และเก็บไปทำลายนอกแปลง
2. พ่นสารฆ่าแมลง ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม ผสมกับไวต์ออยล์ 67% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาคลอพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม ผสมกับ ไวต์ออยล์ 67% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยผสมในน้ำปริมาณน้อย คนให้ละลายเข้ากันดี ก่อนเติมน้ำจนได้ปริมาตรที่ต้องการ พ่นเฉพาะจุดที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดขาวเข้าทำลาย