วิธีการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม
22 ต.ค. 2567
8
0
วิธีการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม
วิธีการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม

วิธีการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม
       จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ การเกษตรในเขตภาคเหนือส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อสวนไม้ผลของเกษตรกรได้รับความเสียหาย เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะส้มเขียวหวาน ส้มโอ ลำไย และทุเรียน ในการฟื้นฟูไม้ผล และการปลูกไม้ผลหลังประสบอุทกภัยเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในพื้นที่ที่กำลังได้รับความเสียหายได้อย่างถูกต้องการฟื้นฟูไม้ผล หลังประสบอุทกภัย เกษตรกรควรจะต้องมีการบำรุงรักษาไม้ผลให้เกิดรากใหม่และให้แตกใบอ่อนโดยเร็วขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้องด้วย

      ขั้นตอนการปฏิบัติมีดังนี้ 
      1. หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรม และอาจตายได้
      2. ในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ควรหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด
      3. ในสภาพน้ำท่วมที่มีการชะพาเอาดิน หรือทรายมาทับถมในบริเวณแปลงปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นหลังจากน้ำลดลงและดินแห้งแล้วควรทำการขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช นอกจากนี้ควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง เป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ทำการปลิดผลออกบ้าง เพื่อช่วยต้นพืชอีกทางหนึ่ง
      4. เพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12 – 12 - 12 หรือ 12 – 9 – 6 หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21 – 21 – 21 และ 16 – 21 – 27 ละลายน้ำพ่นให้แก่พืชก็ได้ นอกจากนี้สามารถเตรียมปุ๋ยทางใบที่มีส่วนผสมของ น้ำตาลเด็กซ์โตรส 600 กรัม (6 ขีด) ฮิวมิคแอซิด 20 ซีซี (2.5 ช้อนแกง) ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15 – 30 - 15 จำนวน 20 กรัม (1.5 ช้อนแกง) โดยผสมสารดังกล่าวในน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) ควรเติมสารจับใบลงไปเล็กน้อย และอาจใส่สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ตามความจำเป็น ควรพ่นสัก 2 - 3 ครั้ง
      5. ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ภายหลังน้ำท่วม มักจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องรากเน่าและโคนเน่า เพราะรากต้องอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ ทำให้ขาดออกซิเจน (อากาศ) ดังนั้นเมื่อดินแห้งแล้วควรมีการพรวนดิน เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น
      6. ในพืชที่ที่มีปัญหาของโรครากเน่า และโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อรา หลังจากน้ำลดแล้วหากพืชยังมีชีวิตอยู่ ให้ราดโคนต้นพืช หรือทาด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตาแลคซิล หรือ ฟอสเอทิล- อลูมินั่ม (อาลิเอท) (กรณีเกิดแผลที่โคนต้นพืชจะถากเนื้อเยื่อพืชที่เสียออกแล้วทาด้วยสารเคมี) โดยสารเคมีดังกล่าวจะใช้กับอาการรากเน่า และโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราพิเที่ยม (Pythium spp.) หรือไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.)สำหรับโรครากเน่าและโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อราฟูซาเรี่ยม (Fusarium spp.) ไรซ็อกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) หรือสเคลอโรเที่ยม (Sclerotium spp.) ให้ราดโคนต้นด้วยสารเคมีพีซีเอ็นบี หรือ เทอร์ราคลอร์

      นอกจากนี้ อาจมีการปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเกิดโรค โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเพียงเล็กน้อย

      การปลูกพืชหลังประสบอุทกภัย
      ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เมื่อน้ำลดแล้ว และต้องการจะปลูกพืช อาจทำได้ 2 วิธีคือปลูกแบบไถพรวนน้อยครั้งโดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา และกระทำหลังจากที่ดินเริ่มแห้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว และลดการรบกวนดินและปลูกแบบไม่ไถพรวน วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังเปียกชื้นอยู่

      การเลือกปลูกไม้ผล ควรพิจารณาความต้องการของตลาดด้วย และควรปลูกไม้ผลที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิตเร็ว ควบคู่กับไม้ผลที่มีอายุการเก็บเกี่ยวนานแต่มีศักยภาพทางการตลาดสูง เป็นการวางแผนในระยะยาว
ก่อนปลูกพืช หากดินแห้งพอที่จะไถได้ ควรไถดินตากแดดสัก 2-3 วันก่อน (ควรเลือกใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา) หากไถไม่ได้ ก็ใช้วิธีขุดหลุมปลูกให้ได้ขนาดพอเหมาะตามชนิดของพืช แล้วผสมปุ๋ยคอก และปูนขาวเล็กน้อยรองก้นหลุมเพื่อปรับปรุงดิน หากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องโรครากเน่า และโคนเน่า ควรราดหรือโรยก้นหลุมด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในดิน เช่น เมตาแลคซิลฟอสเอทิล - อลูมินั่ม หรือ พีซีเอ็นบีเทอร์ราคลอร์ แล้วแต่ชนิดของเชื้อสาเหตุ หรือจะใช้วิธีจุ่มรากของกล้าพืชในสารเคมีดังกล่าวก่อนจะปลูกก็ได้ หลังปลูกพืช ควรมีการใส่ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยคอกเป็นระยะๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชมีการปฏิบัติดูแลรักษาต้นพืช และการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ตามคำแนะนำสำหรับพืชแต่ละชนิด
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้จากหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่

ตกลง