อดเปรี้ยวไม่กินหวาน ผลิตเมล็ดพันธุ์ขายมีรายได้ มากกว่าการขายผลสดอดเปรี้ยวไม่กินหวาน ผลิตเมล็ดพันธุ์ขายมีรายได้ มากกว่าการขายผลสด
FacebookTwitterGoogle LINE
ที่มา เทคโนโลยีการเกษตรผู้เขียน ดร.อภิวัฒน์ จ่าตา อดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยเผยแพร่ วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ.2567ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจในการปลูกพืชเกษตรเป็นจำนวนมาก การปลูกพืชแต่ละชนิดต้องได้สายพันธุ์ที่ดี ต้องมีผลผลิตที่ดี ช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นคือ ความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและเมล็ดพันธุ์ หลายคนที่ไม่ใช่เกษตรกร เริ่มหันมาเป็นมือปลูก และแบ่งปันเมล็ดพันธุ์และผลผลิตให้กันและกัน ความหลากหลายทางพืชพรรณธัญญาหารเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย และการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อและส่งต่อกันเช่นนี้เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยมาช้านาน ถึงเวลาของผู้คนทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างจริงจังหรือยัง ถึงเวลาให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ว่ากันว่า ช่วงวิกฤตนั้น บริษัทเมล็ดทั่วโลกต่างได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
ใช่ครับบริษัทเหล่านั้นตอบมาเพราะเมื่อมนุษย์ต้องการพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องไปพบหน้า ไม่ต้องไปสมาคมพูดคุย การค้าขายแบบออนไลน์ การส่งเมล็ดพันธุ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มันเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปเลย มนุษย์อยากกิน อยากทำเมนู อยากได้สมุนไพร คนสร้างเมล็ดพันธุ์เพื่อรองรับก็ได้เปรียบเป็นธรรมดา คนคิดก่อน ไปก่อน รวยก่อน ก็เหมาะสม แต่ถ้าเกษตรกรที่อยู่ตามท้องไร่ท้องนาต้องคิดต่างแล้วหละ แต่ประชาชนเกษตรกรหละจะมีปัญญาซื้อขายแบบนั้นเหรอ เพราะพืชอยู่กับเขา เมล็ดอยู่กับเขา เขาไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ในตลาดขายแพงอย่างไร รู้แต่ว่าเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกจะหาเมล็ดพันธุ์อย่างไร ในยุคใหม่ วิถีใหม่ การค้าขายออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ดี ที่การเดินทางของเมล็ดพันธุ์ไปได้ไกลกว่าที่คิด ไม่ใช่เป็นซองขายตามร้านขายสินค้าเกษตรอีกต่อไป แต่กำลังฟูเฟื่องในโลกออนไลน์
ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย กล่าวว่า “หากจะยึดกุมอาหารให้ยึดกุมเมล็ดพันธุ์” ทำไมต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองครับ จะเล่าให้ฟัง เกษตรกรส่วนใหญ่มีต้นทุนการผลิต ทุกรอบการปลูกจะมีเรื่องค่าปุ๋ย ค่าน้ำ ค่าแรงงาน ค่าเบ็ดเตล็ดต่างๆ การลดต้นทุนการผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ มีเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกตลอดไป เป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืช และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นสายพันธุ์เฉพาะถิ่น เป็นคำตอบว่าทำไมต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง แล้วเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเองจะมีคุณภาพเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาหรือไม่นั้น อาจารย์บุญส่ง บอกว่า มีหลายพืชสามารถทำได้หากมีการจัดการที่ถูกต้อง เคยเห็นในอดีตไหมครับ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวนาจะเอาข้าวปลูกเพื่อเตรียมไว้กับฤดูกาลหน้าหรือรอบการปลูกต่อไปเอาไปเก็บไว้ในเล้าในยุ้งข้าวอย่างดี ข้าวที่เก็บไว้ก็เป็นพันธุ์ดั้งเดิมไม่กลายพันธุ์ไปไหน ที่สำคัญไม่มีสิ่งแปลกปลอมไม่มี GMO ปลูกแล้วสบายใจเพราะเป็นข้าวของตนเอง
เตรียมการเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เลยครับ ยกตัวอย่าง การเตรียมข้าวปลูกและยังมีพืชอีกหลากหลายชนิดที่ประชากรโลกต้องการ พืชผักสวนครัวที่เรากินทุกวัน พืชเหล่านี้ควรจะทำ เราไม่ได้แข่งกับกลุ่มทุนแต่เราเป็นทางเลือกที่ต้องการพึ่งพาตนเอง การที่เริ่มต้นทำอย่างเป็นระบบ ทำแบบที่ไม่ต้องทิ้งขว้างหลังเก็บเกี่ยวเก็บเมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้ไว้เพื่อปลูก เพื่อขยายพันธุ์ ในโลกที่มีการแข่งขันกันสูง เมล็ดพันธุ์ที่นับวันจะกลายพันธุ์ ใครมีของดีในท้องถิ่นควรเก็บเมล็ดพันธุ์พืช จะเป็นผัก ผลไม้ ต้นไม้ยืนต้น สามารถทำได้เลย อย่ารอให้โลกเปลี่ยนแปลงค่อยทำ ควรจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีระบบ เป็นวิถีแบบบ้านๆ วิถีเรานี่แหละครับ
เมื่อเราคิดเริ่มทำก็ต้องวางแผนครับ เพราะว่าพืชแต่ละชนิดที่ออกผลิตผลมาแตกต่างกัน ถ้าเป็นผักสวนครัวก็จะมีอายุ 45-60 วันก็เริ่มเห็นผลแล้วครับ วันนี้เราควรมองว่า จะเริ่มทำอย่างไรกับสายพันธุ์ต่างๆ ที่นับวันจะมีคนมารวบรวมสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ การจัดกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ รวบรวมพันธุกรรมพืช โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์พืชที่ต้องการจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้ความหลากหลายทางพันธุกรรม และปลูกเพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์พืชนั้นๆ เพื่อให้รู้จักลักษณะของพืชนั้นให้มากที่สุด การคัดเลือกพันธุ์ คือการปรับปรุงประชากรหรือยกระดับความสามารถหรือคุณลักษณะต่างๆ ของพืชให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ให้ผลผลิตสูงขึ้น แนวทางการคัดเลือกพันธุ์ ประกอบด้วย คัดเลือกพันธุ์ผักที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ของผลผลิต คัดเลือกพันธุ์ผักที่ให้ผลผลิตสูง คัดเลือกพันธุ์ผักที่มีความทนทานต่อโรคและศัตรูพืชในท้องถิ่นนั้น คัดเลือกพันธุ์ผักที่ตรงกับความต้องการของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค จงเริ่มต้นวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า
การผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้องเตรียมตัวก่อน การผลิตเมล็ดพันธุ์เราจำเป็นต้องรู้ รูปแบบการผสมเกสรของพืชนั้นๆ เป็นพืชผสมตัวเอง หรือพืชผสมข้าม สภาพแวดล้อมของแหล่งผลิต ได้แก่ แสงแดด อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ลม สภาพดิน โรคและแมลง โดยเฉพาะอุณหภูมิมีความสำคัญต่อผลสำเร็จของการผสมเกสร สภาพพื้นที่ ประวัติแปลงปลูก สภาพดิน ธาตุอาหารในดิน นอกจากนี้ ในการปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องกำหนดระยะห่างของแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมข้ามพันธุ์ ขณะที่ระหว่างปลูกต้องดูแลให้น้ำและปุ๋ยอย่างเหมาะสม ถอนต้นที่ผิดปกติและต้นที่เป็นโรคเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ตรงตามพันธุ์
ถ้าไม่ทำตามระบบที่ผมกล่าวถึงหละครับ การที่เรารู้ที่มา รู้ถิ่นกำเนิดเก็บบันทึก วันเวลา ตามวิถีเกษตรกรแบบดั้งเดิม จดสายพันธุ์ที่มาที่ไป วันเวลาที่เก็บเกี่ยวผลผลิต คุณภาพของผลผลิต เท่านี้ก็ถือว่าใช้ได้ ต้องขอบอกนะครับว่า ต้องมีประวัติที่ดี ต้นไม้เก็บภาพถ่าย ทุกอย่างเก็บเป็นภาพถ่าย ถ้าเป็นอินทรีย์ก็ต้องคุณภาพจริงๆ ถ้าเป็นเอาปริมาณก็ต้องสามารถออกผลผลิตเพื่อที่จะตอบโจทย์ได้ เพราะเกษตรกรแต่ละท่านความพร้อมไม่เท่ากัน
การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์จะต้องพิถีพิถัน เมล็ดที่มีคุณภาพสูง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องมีน้ำหนักมาก เมล็ดใหญ่ และมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง ซึ่งระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมจะแตกต่างตามลักษณะเมล็ดพืชเมล็ดแห้งเมื่อแก่ เช่น กะเพรา ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง ถั่วฝักยาว เก็บเกี่ยวได้เมื่อเมล็ดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ เมล็ดที่มีฝักห่อหุ้ม เช่น ผักเสี้ยน กระเจี๊ยบ เก็บเกี่ยวได้เมื่อฝักเริ่มเปลี่ยนสีและเมล็ดภายในเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ เมล็ดที่ผลมีเนื้อนุ่ม เช่น มะเขือเทศ พริก แตงกวา เก็บเกี่ยวเมื่อสีผลภายนอกเปลี่ยนสีชัดเจน ผลสีแดง เช่น มะเขือเทศ พริก ตำลึง บวบงู ผลสีเหลือง เช่น มะเขือ แตงกวา มะระ ผลสีน้ำตาลหรือสีฟางข้าว เช่น มะเขือม่วง
ลักษณะของเมล็ดพันธุ์หลังเก็บเกี่ยวมี 2 ลักษณะ คือ เมล็ดเปียก เช่น มะเขือเทศ พริก มะละกอ เมล็ดแห้ง เช่น ผักชี สลัด ซึ่งเมล็ดเปียกนำไปหมักใส่ถัง 12-24 ชั่วโมง ก่อนนำไปล้าง จะทำให้เนื้อที่หุ้มเมล็ดหลุดออกง่าย แล้วจึงไปผึ่งลมในที่ร่ม 3-4 วัน การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวแล้วจะมีความชื้นในระดับที่ค่อนข้างสูง (35-40 เปอร์เซ็นต์) หากต้องการเก็บเพื่อใช้ในฤดูปลูกต่อไปต้องลดความชื้นในเมล็ดให้ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้เก็บเมล็ดพันธุ์ได้นาน 1-3 ปี โดยขึ้นอยู่กับพืชผักแต่ละชนิดและวิธีการเก็บที่ถูกต้อง สำหรับการลดความชื้นในเมล็ดพันธุ์นั้น ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง ควรตากเมล็ดพันธุ์ในโรงเรือน หรือใส่ถุงไนลอนผึ่งลม 3-4 วัน แล้วบรรจุลงขวดแก้วที่มีฝาปิด เก็บในตู้เย็น หรือในห้องที่ดูดความชื้นได้ดี แค่เริ่มต้นทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำ และรายได้เป็นกอบเป็นกำก็จะตามมา ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าคุณไม่ยอมทำ
ปัญหาที่เกษตรกรไม่กล้าก้าวข้าม เพราะกลัวว่าไม่มีตลาด กลัวว่าลงมือทำไปแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงมือลงแรง สุดท้ายคนที่พร้อมก็ไปได้ไกลกว่า เอาอย่างนี้ครับลองคิดบวกท่านเคยปลูกพืชชนิดใดอยู่ 1 แปลง ท่านเพิ่มทางเลือกเป็น 2 แปลงหรือครึ่งแปลง แปลงที่ปลูกประจำก็ทำไว้เพื่อขายผล เก็บเกี่ยวปกติ ส่วนอีกแปลงที่เพิ่มขึ้นมาท่านก็ปลูกเอาเมล็ด ได้ประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง ช่วงที่รอเมล็ดท่านก็ประสานหาเครือข่ายผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านทวิตเตอร์ ทำติ๊กต็อก เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหว ทั้งใส่เบอร์โทร. เข้าไป เพื่อจะให้คนได้ติดต่อ ไลฟ์สดผ่านสื่อต่างๆ ทุกวันนี้กิจกรรมเหล่านี้ไปเร็วมาก ไปไกลถึงต่างประเทศ ถ้ามีความสนใจ เราจะเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่ไม่ต้องมีคนไปหาถึงสวน แต่จะมีคนเข้ามาหาในโลกออนไลน์ วางแผนดีๆ สร้างสตอรี่ให้น่าสนใจ สร้างคอนเทนต์ให้เข้าใจง่าย รับรองว่าเห็นผลแน่นอน ที่สำคัญเราต้องมีความอดทนสักนิด ไม่ใช่ว่าเผยแพร่คลิปวันเดียวจะประสบความสำเร็จ อันนั้นแล้วแต่ดวง บางรายไลฟ์สดครั้งแรกก็ปังๆ ๆ ๆ เลยก็มี อันนี้แล้วแต่ดวงจริงๆ ในเมื่อมือถือต้องมีการใช้จ่ายทุกสิ้นเดือน ลองทำกิจกรรมเหล่านี้ ยังไงก็จ่ายเท่าเดิมนะครับ
การนำเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมเก็บเกี่ยวหรือเก็บเกี่ยวแล้ว มานำเสนอขายในสื่อโซเชียล นับเป็นวิธีการใหม่ ไม่ต้องเดินทางไปตลาดนัด แต่ออนไลน์จากในส่วนที่บ้าน การใช้สื่อให้เป็นแบบนี้ ลดต้นทุนเรื่องเวลาเดินทาง ลดต้นทุนหลายอย่าง อยากทำอะไรก็ทำได้ในสวนของเรา เผลอๆ นะมีคนแห่มาเที่ยวสวนของเราอีกต่างหาก มองมุมใหม่ครับแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เกษตรกรต้องเปลี่ยน ต่อไปจะไม่มีปัญหาเกษตรกรต้องเอาผลไม้ไปเทที่ถนน เพราะปริมาณผู้บริโภคยังมีอีกเยอะ แต่คนไม่ได้เข้าไปหาแหล่งปลูก เมื่อเขารู้แหล่งรู้พิกัด ท่านจะต้องรอต้อนรับเพื่อจะมีคนมาหาถึงสวน เปลี่ยนก่อนรวยก่อน เมื่อเรามีของดีอะไรก็เกิดขึ้นได้ นี่คือเกษตรทางรอดตัวจริง ใครไม่ทันก็เป็นคนหลงทางครับ รีบคิดรีบทำครับ เพราะเกษตรกรวันนี้เยอะกว่าเดิม เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี น่ากลัวอยู่เหมือนกัน เพราะมีทั้งหมอที่ลาออกมาเป็นเกษตรกร มีทั้งพยาบาลที่ลาออกมาเป็นเกษตรกร เกษตรกรดั้งเดิมก็ต้องปรับเปลี่ยนนะครับ
วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ใครๆ ก็สามารถขายเมล็ดพันธุ์พืชได้ ลองออกแบบดูนะครับ ถ้าวางแผนไว้อย่างที่ว่าไว้ ออกแบบให้ชัดเจน ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน สร้างแพลตฟอร์ม รูปแบบการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างสตอรี่ความเป็นมา แล้วออกแบบผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ สร้างการตลาดแนวใหม่ สร้างพื้นที่การเพาะปลูกไม่ต้องใหญ่มาก เริ่มต้นจากระเบียงคอนโดมิเนียม ขยายออกมาเป็นรอบการปลูก จากต้นขยายเป็น 2 ต้น ท่านจะมีความสุขในการเฝ้าดูผลผลิต ปกติเราเห็นผลสวยๆ ผักงามๆ ก็อยากเด็ด อดเปรี้ยวไม่กินหวาน แต่รอเมล็ดแห้งแล้วเก็บเกี่ยวขายเป็นกิโลกรัมละหลายบาท แม้การผลิตเมล็ดพันธุ์จะมีรายได้ที่มากกว่าการผลิตผลสด แต่กว่าจะได้เงินนั้นก็กินเวลานานกว่า ความสำเร็จรอเกษตรกรรุ่นใหม่อยู่นะครับ ลงมือทำเลยครับ ลงมือทำคือคำตอบ อดทน ลงมือทำ เพราะทุกอย่างมีวิถี ขนาดว่าดินแห้งแล้งขนาดไหน ขอให้มีหยดน้ำ ต้นไม้เหล่านั้นยังเติบโตขึ้นได้ จะรอช้าอยู่ใย ลุยสิครับบบบ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566