ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย หนุนอาชีพเพาะเห็ด ให้บริการเชื้อเห็ดสายพันธุ์ดี 27 ชนิด 41 สายพันธุ์
เผยแพร่
วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ.2567
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ก่อตั้งศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อเห็ดที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน และดำเนินการเก็บรวบรวมและรักษาเชื้อพันธุ์เห็ดทั้งของไทยและต่างประเทศไม่ให้กลายพันธุ์ ซึ่งการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์เห็ดมีความสำคัญอย่างมาก หากไม่มีวิธีการที่เหมาะสม อาจส่งผลให้เชื้อพันธุ์เห็ดที่มีลักษณะและคุณสมบัติที่ดีสูญหายหรือลดลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการผลิตเห็ดที่ดีมีคุณภาพ โดยในปี 2536 ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดฯ ได้เริ่มให้บริการเชื้อพันธุ์เห็ดที่ดีมีคุณภาพให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานราชการต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรม ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางพันธุกรรมเห็ดเพื่อสนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนาเชื้อพันธุ์เห็ด โดยคำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรและความเหมาะสมในแต่ละภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มทางเลือกการใช้เชื้อพันธุ์เห็ดของเกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมทั้งยังมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการผลิตเห็ดอย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดฯ มีเชื้อพันธุ์เห็ดอนุรักษ์ไว้จำนวนมากกว่า 40 ชนิด 900 เชื้อพันธุ์ ซึ่งนอกจากงานอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมเห็ดแล้ว ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดฯ ยังผลิตเชื้อพันธุ์เห็ดจำนวนทั้งสิ้น 27 ชนิด 41 สายพันธุ์ เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และผู้ที่สนใจ เพื่อสนับสนุนอาชีพการเพาะเห็ด ให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีการเพาะเห็ดแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมทั้งยังขยายผลเชื้อพันธุ์เห็ดบริสุทธิ์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์สร้างอาชีพแก่เกษตรกร
arrow_forward_iosคลิก
Pause 00:00
00:41
01:31
Unmute
สำหรับเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ที่ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดฯ ผลิตจะอยู่ในรูปของเส้นใยในอาหารวุ้น เหมาะสำหรับใช้เป็นแม่เชื้อเพื่อทำเชื้อขยายหรือเชื้อเพาะในเมล็ดข้าวฟ่างและวัสดุอื่นๆ โดยเชื้อพันธุ์เห็ดที่ได้รับความนิยมใน 5 อันดับแรก ได้แก่ เห็ดภูฏาน เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดฮังการี และเห็ดแครง เมื่อได้รับเชื้อเห็ดให้ตรวจดูสภาพขวดบรรจุและเชื้อพันธุ์เห็ดกรณีขวดแตกหรือมีเชื้ออื่นปนเปื้อนขอให้แจ้งกลับมาที่กลุ่ม วิจัยและพัฒนาเห็ด เพื่อส่งทดแทนให้ต่อไป และเมื่อได้รับเชื้อเห็ดควรใช้ภายใน 15 วัน โดยใช้เชื้อเห็ดแต่ละขวดให้หมดภายในครั้งเดียว ขวดเชื้อเห็ดที่สั่งซื้อหากยังไม่ใช้ต้องเก็บไว้ในที่สะอาด ไม่มีฝุ่นละอองและห้ามถูกแสงแดดโดยตรงอย่างเด็ดขาด
สำหรับผู้ที่สนใจเชื้อพันธุ์เห็ดสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2579-0147 หรือ เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
“ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดฯ มีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญพัฒนากระบวนการผลิตเห็ดที่มีประสิทธิภาพและเชื้อพันธุ์สามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ สนับสนุนนโยบาย BCG โมเดล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสร้างเชื้อพันธุ์เห็ด และควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาเชื้อพันธุ์เห็ดที่มีคุณภาพเพื่อสร้างอุตสาหกรรมเห็ดที่ยั่งยืนในประเทศไทย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว