เซียนปลูกกล้วย ชาวอุดร เผยเทคนิคผลิตกล้วยหอม เพื่อส่งออกเซียนปลูกกล้วย ชาวอุดร เผยเทคนิคผลิตกล้วยหอม
วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2567กล้วยหอมทอง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการส่งออก หลายประเทศมีความต้องการบริโภคสูง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการปลูกกล้วยหอมเพื่อการค้าในหลายจังหวัด รวมถึงที่จังหวัดอุดรธานี
โดยการปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการค้าของจังหวัดอุดรธานี เกิดขึ้นในปี 2537 โดยมี คุณทองคูณ โพธิ์พรม เกษตรกร บ้านโพธิ์ ตำบลบ้านโคก อำเภอสร้างคอม เป็นเกษตรกรผู้เริ่มต้นและจุดประกายการปลูกกล้วยหอมทอง
เริ่มขายจากตลาดท้องถิ่นเดิมนั้น คุณทองคูณทำงานอยู่ในโรงงานไม้อัดที่จังหวัดนนทบุรี แต่เนื่องด้วยมีรายได้ไม่เพียงพอการค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด มาประกอบอาชีพการเกษตร และได้นำพันธุ์กล้วยหอมทองจากจังหวัดนนทบุรีมาปลูก
ด้านการตลาด เริ่มต้นด้วยการปลูกเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น และนำไปให้เพื่อนที่อยู่บ้านปากสวย ตำบลปากสวย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ช่วยจำหน่ายในร้านค้าริมข้างทาง บนถนนสายหนองคาย-โพนพิสัย เนื่องจากมีรถสัญจรมากพอสมควร ต่อมามีการพัฒนาจนกลายเป็นตลาดกล้วยหอมทองแหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2540 คุณทองคูณได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอมขึ้น มีสมาชิกเริ่มต้นทั้งหมด 23 คน และในปี 2549 นายทองคูณได้ขอการรับการรับรองแหล่งผลิต GAP กล้วยหอมทองเป็นรายแรกและรายเดียวของจังหวัดอุดรธานี
คุณจักรินทร์ โพธิ์พรมปี พ.ศ. 2552 กลุ่มกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอมได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอม มีสมาชิกทั้งหมด 36 ราย โดยมี คุณจักรินทร์ โพธิ์พรม เป็นประธาน
สำหรับคุณจักรินทร์นั้น เป็นลูกชายของคุณทองคูณ โดยเมื่อกลับมาจากการทำงานที่ประเทศอิสราเอล ได้นำความรู้ด้านการเกษตรมาปรับใช้ในแปลงกล้วยหอมทอง พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง และได้เข้ามาเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอำเภอสร้างคอม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP กล้วยหอมทองเพิ่มขึ้น จำนวน 6 ราย และเริ่มมีการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก
ติดรหัสแปลงที่หวีกล้วยเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับในปี 2557 เพื่อให้การดำเนินงานของกลุ่มมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งกลุ่มใหม่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองตำบลบ้านโคก อำเภอสร้างคอม มีสมาชิกทั้งหมด 40 ราย และในเบื้องต้นเกษตรกรที่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามระบบ GAP พืช ได้ขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชแบบกลุ่ม (กล้วยหอม) จำนวน 17 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรอำเภอสร้างคอม 8 ราย อำเภอพิบูลย์รักษ์ 7 ราย และอำเภอเพ็ญ 2 ราย โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการตรวจประเมินการจัดการระบบควบคุมภายในของกลุ่ม การตรวจแปลงผลิตกล้วยหอมทองตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์สารพิษตกค้าง
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองตำบลบ้านโคก ได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช แบบกลุ่ม (กล้วยหอม) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 จำนวน 17 ราย และคาดว่าสมาชิกที่เหลือจะยื่นขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช (กล้วยหอม) ต่อไป
ในปี 2559 นี้ จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองทั้งหมด 123 ไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญของจังหวัดอุดรธานีอยู่ในเขตอำเภอสร้างคอม พื้นที่ 70 ไร่ ที่เหลืออยู่ในเขตอำเภอพิบูลย์รักษ์และอำเภอเพ็ญ 20 ไร่ อำเภอกุมภวาปี 23 ไร่ และอำเภอกุดจับ 10 ไร่
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ตรวจประเมินฯ สวนกล้วยหอมทองของเกษตรกรเทคโนโลยีการผลิตของอุดรธานีกล้วยหอมทองของจังหวัดอุดรธานี เน้นการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมี ดังนั้น จึงมีการผลิตได้ปีละ 1 รอบการผลิตเท่านั้น โดยแต่ละรอบการผลิตใช้ระยะเวลา 8-11 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มจึงมีการวางแผนการผลิตเพื่อสามารถให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี
โดยในการปลูกและการดูแลรักษานั้นจะมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
การเตรียมพื้นที่ปลูก : ไถเตรียมดิน 2-3 ครั้ง ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ขนาดหลุมปลูก 30x30x30 เซนติเมตร รองพื้นด้วย ปุ๋ยคอกที่คลุกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ที่คลุกเคล้าด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาสด 80 กิโลกรัมต่อไร่
การเตรียมพันธุ์และการปลูก : ปลูกด้วยหน่อกล้วยที่สมบูรณ์ มีความยาว 30-50 เซนติเมตร
การใส่ปุ๋ย : อายุ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 40-60 กิโลกรัมต่อไร่
อายุ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 60-80 กิโลกรัมต่อไร่
อายุ 5 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 อัตรา 80-120 กิโลกรัมต่อไร่
การให้น้ำ : มีการให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด หรือมินิสปริงเกลอร์ โดยควบคุมความชื้นในดินที่ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์
การตัดแต่งหน่อ : หลังปลูก 3-4 เดือน กล้วยจะเริ่มมีการแตกหน่อ ให้ตัดหน่อที่เกิดทิ้งตลอดช่วงการเจริญเติบโตจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ให้ตัดก่อนที่หน่อจะแตกใบเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหารจากต้นแม่ กรณีบางพื้นที่ต้องการผลิตกล้วยหอมทองมากกว่า 1 รอบการผลิตต่อพื้นที่ จะเก็บหน่อที่สมบูรณ์ไว้ 1 หน่อ ส่วนหน่อที่เหลือจะนำไปเป็นส่วนขยายพันธุ์ต่อไปหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
การตัดแต่งใบ : การตัดแต่งใบจะตัดแต่งพร้อมกับการตัดแต่งหน่อ โดยจะให้เหลือใบมากที่สุด คือ 11-13 ใบ เพื่อให้ใบช่วยพรางแสง ลดความเข้มของแสงลง ไม่ให้แสงส่องถูกผลกล้วยโดยตรง โดยไม่มีการห่อเครือ
การตัดปลี : กล้วยหอมทอง 1 เครือ จะเก็บผลผลิตที่สมบูรณ์ไว้ 5-6 หวีต่อเครือ และจะตัดปลีทิ้งเมื่อเกิดข้อต่อจากหวีสุดท้ายลงมา 3 ข้อ จากนั้นทำสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันเพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยว
การกำจัดวัชพืช : กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคน 3 ครั้งต่อรอบการผลิต
การค้ำลำต้น : กล้วยหอมทองมักประสบปัญหาเรื่องหักล้มง่าย จึงต้องใช้ไม้ค้ำเครือกล้วยทุกต้น
การเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวกล้วยหอมทองที่มีความแก่ประมาณ 75-80% คือ หลังจากตัดปลีกล้วยแล้วประมาณ 55-65 วัน ทำการตัดกล้วยทั้งเครือแล้วป้องกันไม่ให้กล้วยบอบช้ำระหว่างการขนย้าย โดยการสอดแผ่นโฟมหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ระหว่างหวีภายในเครือ แล้วนำไปทำความสะอาด บรรจุหีบห่อและเก็บรักษา
ล้างทำความสะอาดการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว : ก่อนล้างทำความสะอาด จะแขวนเครือกล้วยไว้เพื่อป้องกันกล้วยช้ำหรือโดนกระแทก จากนั้นจึงนำเครือกล้วยมาแยกหวีออกจากกัน ล้างทำความสะอาด และเป่าให้แห้ง คัดแยกผลผลิตที่สมบูรณ์ สวยงาม ไม่มีโรคและแมลง น้ำหนักต่อลูกเฉลี่ย 120 กรัม ทำการติดรหัสแปลงที่หวีกล้วยเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับ หุ้มด้วยวัสดุกันกระแทก และบรรจุกล่อง
การจำหน่าย : เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับทาง 7-ELEVEN ที่ความสุกแก่อยู่ที่ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยถ้าเป็นการบรรจุ 1 ลูกต่อแพ็ก น้ำหนักเฉลี่ย 120 กรัมต่อลูก ส่วนที่บรรจุ 2 ลูกต่อแพ็ก น้ำหนักเฉลี่ย 90-110 กรัมต่อลูก
หุ้มด้วยวัสดุกันกระแทก และบรรจุกล่องปัญหาและอุปสรรค : เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้จำเป็นต้องมีการให้น้ำเสริมในช่วงแล้ง เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิต จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 20%
ผลผลิต ต้นทุน และรายได้ : ผลผลิตเฉลี่ย 3,500-4,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้ 45,500-52,000 บาทต่อไร่ (ที่ราคาขาย 13 บาทต่อกิโลกรัม) ต้นทุนการผลิต 21,700 บาทต่อไร่ มีผลตอบแทน 23,800-30,300 บาทต่อไร่ และยังมีรายได้จากการขายต้นพันธุ์กล้วยปีละ 20,000 บาทต่อไร่
ด้านการตลาด : ระหว่าง ปี 2552-2558 เกษตรกรของจังหวัดอุดรธานีได้มีการส่งออกผลผลิตกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยผ่าน บริษัท Pan Pacific Food Corporation
แต่ในช่วงปลายปี 2558 เป็นต้นมา เกษตรกรได้มีการเปิดตลาดในประเทศโดยผลผลิตส่งขายให้กับ 7-ELEVEN ราคากิโลกรัมละ 12-13 บาท และในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2559 ส่งออกผลผลิตกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย ดูไบ และรัสเซีย โดยการรวบรวมผลผลิตร่วมกับผลผลิตจากจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ ราคาส่งออก กิโลกรัมละ 17 บาท
กล้วยหอมทองในวันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ 135 หมู่ที่ 2 ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี โทรศัพท์ 086-450-7503
เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559.