สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี จัดรายการวิทยุ “กระทรวงเกษตรฯ สรรหามาเล่า”
วันจันทร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.10 น. นายฉลาด แก้วขาว เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี มอบหมายให้กลุ่มสารสนเทศการเกษตร จัดรายการวิทยุ “กระทรวงเกษตรฯ สรรหามาเล่า” โดยมีนายธนพล พันศรี เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน จากประมงจังหวัดปัตตานี นายทศพล พลรันต์ นักวิชาการประมงชำนาญการ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี มาร่วมจัดรายการ โดยมีนางสาววาสนา สมสุข นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ จากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดปัตตานี คลื่น F.M. 101 MHz ซึ่งออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 08.10–09.00 น. และไลฟ์สดทาง Facebook Live สวท.ปัตตานี F.M. 101
สำหรับในวันนี้ เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน นำเสนอและประชาสัมพันธ์ข้อมูล “เฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน”มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ 1. ปลาหมอคางดำเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ที่สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมือง ระบบนิเวศของสัตว์น้ำอย่างหนักรวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ พบเจออาศัยอยู่บริเวณปากน้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเล 2. สามารถอาศัยอยู่ได้ทุกสภาพน้ำ ขยายพันธุ์รวดเร็วและขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี 3. มีนิสัยดุร้าย ประกอบกับพบว่าความยาวของลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยอาหารได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุให้ปลาหมอคางดำมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี นำเสนอและประชาสัมพันธ์ข้อมูล “การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปูทะเล”การเลี้ยงปูทะเลปัจจุบันพบว่าเกษตรกรนิยมใช้วิธีการปล่อยปูทะเลขนาด 10-15 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการซื้อมาจากชาวประมงที่ประกอบอาชีพหาปูทะเลมาจำหน่าย และมักมีปูทะเลหลายชนิดรวมกัน ปริมาณจำนวนปูที่ได้มีความไม่แน่นอน และมักมีระยางค์ไม่ครบถ้วนอันเนื่องมาจากปูที่รวบรวมมาได้มีการหนีบทำร้ายกันเอง และปูทะเลมีสภาพอ่อนแอ เมื่อนำไปปล่อยมักจะมีการตาย ทำให้เกษตรกร ได้ผลผลิตน้อย จากการสอบถามถึงเหตุผลที่นิยมใช้ปูขนาด 10-15 ตัวต่อกิโลกรัม พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดทุนทรัพย์ในการสูบน้ำเตรียมบ่อ และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงปูทะเลที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันการเลี้ยงปูทะเลเป็นอาชีพที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ เพราะจากการดำเนินงานส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรพบว่า ผลลัพธ์ของการดำเนินงานที่ถูกวิธีจะส่งผลดีต่อการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลายด้าน รวมถึงเกษตรกรจะมีความรู้ความเข้าใจต่อการดูแลคุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม วิธีการจัดการรวมถึงหลักการเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก “การเลี้ยงปูมิใช่การซื้อปูมาปล่อยแล้วปล่อยให้ปูเลี้ยงตัวเรา แต่การเลี้ยงปูคือการดูแลปูให้กินอิ่มอยู่ในระบบนิเวศน์ที่ดี มีความรับผิดชอบในการเลี้ยงอย่างมีแบบแผน ดำเนินการอย่างมีจรรยาบรรณ”
ภาพ/ข่าว กลุ่มสารสนเทศการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี