เลี้ยงปลากรายครบวงจร แปรรูปเพิ่มมูลค่า ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น
12 ม.ค. 2567
27
0
เลี้ยงปลากรายครบวงจร
เลี้ยงปลากรายครบวงจร แปรรูปเพิ่มมูลค่า ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น

ปลากราย เป็นอีกหนึ่งปลาเศรษฐกิจที่มีเกษตรกรในหลายพื้นที่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยการเลี้ยงส่วนใหญ่จะเน้นให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นหลัก ช่วยให้ง่ายต่อการจัดการในการให้ปลากินในแต่ละมื้อ ซึ่งเนื้อปลากรายสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการนำมาแกงเขียวหวานที่เป็นเมนูยอดนิยม หรือเมนูอื่นๆ รสชาติอร่อยไม่แพ้กัน

ปลากรายเป็นสัตว์น้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง และบึง เกือบทั่วประเทศ และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามถิ่นนั้นๆ ภาคเหนือ เรียกว่า ปลาหางแบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ปลาตองกราย เป็นต้น ปลากรายเป็นปลาประเภทกินเนื้อ ซึ่งอาหารที่หากินตามธรรมชาติ ได้แก่ ตัวอ่อนของแมลง กุ้งฝอย ลูกปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่นๆ


“ช่วงที่เห็นเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยง เราก็เกิดความสนใจว่า ในพื้นที่ 2 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี แต่สามารถทำรายได้พอสมควร จึงทำให้เราเกิดแนวความคิดว่า เราน่าจะแบ่งพื้นที่ทำนามาทำบ้าง เพราะเราทำนาปีละ 2 ครั้ง บางครั้งได้กำไรไม่ดี เมื่อเทียบกับการเลี้ยงปลากราย ผมก็เลยแบ่งพื้นที่ทำนาบางส่วนมาเลี้ยงปลากรายเป็นบ่อดิน และบางส่วนก็มีเลี้ยงในกระชังบ้าง ก็ประสบผลสำเร็จดีเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้ดีทีเดียว” คุณสิทธิชัย บอก

ปลากรายเลี้ยง 1 ปี

จึงจะจับขายได้

คุณสิทธิชัย อธิบายถึงขั้นตอนการเลี้ยงปลากรายให้ฟังว่า หลังจากที่จับปลากรายขายจนหมดบ่อแล้ว จะเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงในรอบใหม่ต่อไป ด้วยการทำความสะอาดบ่อโดยวิดน้ำออกให้หมด โรยก้นบ่อด้วยปูนขาวพร้อมกับตากบ่อทิ้งไว้ 7 วัน หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้ามาภายในบ่อ และเตรียมบ่อให้มีอาหารธรรมชาติ ลูกปลากรายจะได้มีอาหารกินในช่วง 2 วันแรก

การทำแพลงตอนน้ำ จะนำฟางข้าวและปุ๋ยคอกมาใส่ลงไปในบ่อในมุม 4 ด้านของบ่อ เมื่อเตรียมน้ำภายในบ่อเรียบร้อยแล้ว จึงนำลูกปลากรายขนาดไซซ์ 3 นิ้ว มาใส่เลี้ยงในอัตราส่วน 12,000 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ บ่อของเขามีขนาด 2 ไร่ อัตราส่วนที่เลี้ยงจึงอยู่ที่ประมาณ 24,000 ตัวต่อพื้นที่ 2 ไร่ โดยในช่วง 2 วันแรกที่ปล่อยเลี้ยงจะปล่อยให้ลูกปลากรายกินแพลงตอนน้ำเพียงอย่างเดียว
“หลังจากที่เราปล่อยเลี้ยงได้ 2 วันแล้ว จากนั้นเราก็จะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดเบอร์ 1 ที่มีโปรตีนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 1 เดือนแรกจะให้กิน 4 มื้อ เช้า สาย บ่าย เย็น หลังจากครบ 1 เดือน ก็จะเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดเบอร์ 2 ให้กินแค่ช่วงเช้าและเย็นต่อไปอีกประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเบอร์อาหารอีกครั้งหนึ่ง เป็นอาหารเบอร์ 3 ให้กินอีกประมาณ 4 เดือนหรือกินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจับปลาขาย” คุณสิทธิชัย บอก
การดูแลน้ำภายในบ่อเลี้ยง คุณสิทธิชัย ย้ำว่าสำคัญมาก เพราะปลากรายจะไม่ชอบสภาพน้ำที่เน่าเสีย ในระหว่างที่เลี้ยงเมื่อเห็นมีสีน้ำเปลี่ยน เขาจะถ่ายน้ำเก่าออกและเติมน้ำใหม่เข้าไปบ้าง ส่วนถ้าช่วงที่มีฝนตกหนักๆ ในช่วงต้นฤดูกาล จะทำการสาดเกลือลงไปภายในบ่อ จำนวน 30 กิโลกรัม เพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักๆ และสิ่งที่ช่วยให้ไม่เกิดโรคกับปลาภายในบ่อ คือการนำจุลินทรีย์เข้ามาช่วยบำบัด โดยใส่ลงภายในบ่อทุก 1 เดือน ก็จะช่วยในเรื่องของการบำบัดน้ำได้เป็นอย่างดี

ที่มาของข้อมูล: เทคดนโลยีชาวบ้าน
ตกลง