ชาวนากำแพงเพชรปลื้มได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้นและมีรายได้มากขึ้นหลังใช้แพลตฟอร์มการส่งน้ำอัจฉริยะ ของ มจพ.
31 มี.ค. 2568
9
0
ชาวนากำแพงเพชรปลื้มได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้นและมีรายได้มากขึ้นหลังใช้แพลตฟอร์มการส่งน้ำอัจฉริยะ
ชาวนากำแพงเพชรปลื้มได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้นและมีรายได้มากขึ้นหลังใช้แพลตฟอร์มการส่งน้ำอัจฉริยะ ของ มจพ.

เกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) เนื้อที่กว่า 550,688 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 6 อําเภอ ได้แก่ อําเภอไทรงาม อําเภอพรานกระต่าย อําเภอเมือง อําเภอลานกระบือ จังหวัดกําแพงเพชร และอําเภอคีรีมาศ อําเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ต่างมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง หลังใช้แพลตฟอร์มระบบปฎิบัติการส่งน้ำอัจฉริยะที่มีการจัดสรรน้ำให้ตรงกับความต้องการของพืช ลดการสูญเสียน้ำชลประทานได้ร้อยละ 15 ต่อฤดูกาล

นวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลงานของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ. ) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย มจพ. ร่วมมือกับกรมชลประทาน นำเทคโนโลยี IoT เช่น เครื่องมือควบคุมสั่งการอาคารส่งน้ำ เครื่องมือติดตามสภาพน้ำในคลองส่งน้ำ เครื่องมือติดตามความชื้นชลประทานของดินในแปลงเกษตรกรรม  รวมทั้งใช้  AI Software ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระบบปฎิบัติการส่งน้ำในการจัดสรรน้ำที่เหมาะสมกับช่วงเวลาความต้องการน้ำของพืชและระดับน้ำในคลองส่งน้ำ แบบ Real Time ที่ นำไปสู่การวางแผนการจัดสรรน้ำให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร  โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้เกษตรกรได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษาระบบ เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำ และโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯกล่าวว่า  นวัตกรรมนี้สามารถลดปริมาณการสูญเสียการส่งน้ำส่วนเกินในระบบชลประทาน เฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อฤดูกาล ด้วยการใช้งานเทคโนโลยี ติดตามสภาพน้ำและพื้นที่เกษตรกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มระบบปฎิบัติการส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานต้นแบบโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง

ที่ผ่านมา มจพ.จึงมีการขับเคลื่อนและขยายผลในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว จ.กำแพงแพงเพชร เนื้อที่กว่า 2แสนไร่  โดยบูรณาการแบบจำลองประเมินการใช้น้ำที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีควบคุมประตูส่งน้ำอัตโนมัติ ระบบติดตามระดับน้ำ ความชื้นชลประทาน และระดับน้ำใต้ดินที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัย นอกจากลดปริมาณการสูญเสียการส่งน้ำชลประทานได้เฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อฤดูกาลแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเฉลี่ย 224 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการจัดสรรน้ำที่เพียงพอได้ 3,099 บาทต่อไร่ ในปี 2568 จะขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ใกล้เคียงคือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง-หนองขวัญ จ.กำแพงเพชร เนื้อที่กว่าแสนไร่

นอกจากนี้ ทาง มจพ.ยังได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้  ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เนื่องจากทุกวันนี้ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นเลิศ ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย มีพื้นที่ชลประทานเพียงแค่ 10% เท่านั้น พื้นที่นอกเขตชลประทานอีก 90% ทำนาได้เพียงปีละครั้งเดียว ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้นำร่องในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสมกับระดับน้ำใต้ดินที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยเกษตรกรตัดสินใจปลูกแตงโม เนื้อที่ 15 ไร่ ใช้เงินลงทุนแสนกว่าบาท ปลูกดูแลระยะสั้น สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ถึง 3.6 แสนบาท มีผลกำไร 2.5 แสนบาทในระยะเวลาไม่กี่เดือน

ตกลง