นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับเขต (เขตตรวจราชการที่ 6)​ ประจำปี 2566
13 ธ.ค. 2565
197
0
นายพีรพันธ์คอทองผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับเขต (เขตตรวจราชการที่ 6)​ ประจำปี 2566

     เมื่อวันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30 น. นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับเขต (เขตตรวจราชการที่ 6) ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 123  และผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะคณะทำงานสรรหาฯ เพื่อร่วมพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเพื่อเชิดชูเกียรติเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของคณะทำงานสรรหาฯ ในระดับจังหวัด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการสรรหาที่กำหนดไว้ต่อไป

โดยคณะทำงานสรรหาฯ เขตตรวจราชการที่ 6 ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว มีมติเสนอเกษตรกรเข้ารับการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ดังนี้

   1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 2 ราย ได้แก่
       (1) นายพิชิต ชูมณี มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในด้านการทำการเกษตรผสมผสาน (นาข้าว เลี้ยงสัตว์ ประมง ปลูกพืชสมุนไพร และพืชผักกางมุ้ง) พัฒนาคุณภาพสินค้าจนสามารถเป็นสินค้าต้นแบบของชุมชน แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันและยางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตตกต่ำ จึงมีแนวในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่นาสวนผสมขึ้นในพื้นที่ที่จะสามารถสร้างรายได้สร้างความมั่นคงในอาชีพและครอบครัว จึงได้มีการจัดระบบการปลูกพืชรูปแบบฟาร์มที่มีข้าวอยู่ด้วย และในด้านการขยายผลงานเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรผสมผสาน การผลิต การใช้นวัตกรรม และการทำบัญชีครัวเรือน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ และเชื่อมโยงกลุ่ม/เครือข่าย และ
       (2) นางจำเนียร กาญจนพรหม มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในด้านการทำเกษตรผสมผสาน จากการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรผสมผสาน โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ด้านพืช เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว เน้นผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ ด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค แพะ สุกร เป็ด และไก่ ด้านประมง เช่น เลี้ยงปลา กบในบ่อพลาสติก และด้านสิ่งแวดล้อม เช่น นำเอามูลสัตว์ต่าง ๆ มาหมักกับหญ้าทำปุ๋ยชีวภาพ

   2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น จำนวน 2 ราย ได้แก่
       (1) นายสมศักดิ์ คงเมฆา มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในด้านทดลองเพาะพันธุ์ปลากัด จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานด้านการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม เริ่มขึ้นในปี 2557 จากเป็นผู้ที่มีนิสัยชื่นชอบปลากัด เมื่อเลี้ยงมาได้ระยะหนึ่งก็ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสีสันที่เกิดขึ้นบนตัวปลากัด จึงมีความคิดที่จะทดลองเพาะพันธุ์ปลากัดเพื่อให้มีสีสันหลากหลายและสวยงามใช้เวลาในการลองผิดลองถูกประมาณ 2 ปี ในระหว่างที่ทำการทดลองอยู่นั้นก็ได้มีการถ่ายภาพในสื่อออนไลน์ ก็มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้เพราะเลี้ยงปลากัดสวยงามของภาคใต้ ได้นำปลากัดไปออกบูธเผยแพร่องค์ความรู้การเลี้ยงปลากัดในงาน PLAKAD THAILAND Pavilion ณ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2563
และ (2) นายวุฒิศักดิ์ พรมแก้ว มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในด้านต่าง ๆ เช่น การทำสวนเกษตรเพื่อชีวิต (อินทรีย์) ปลูกพืชผักสวนครัว มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน เงาะ กระท้อน ฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งได้มาตรฐาน “ออร์แกนิคไทยแลนด์” การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตภายในฟาร์ม ทำขนมเปี๊ยะไส้ไข่เค็ม ขนมหม้อแกง กะลามะพร้าว ไข่เค็มสด เป็นต้น และเป็นศูนย์การเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งนี้ มีการถ่ายทอดผลงานอย่างต่อเนื่องเริ่มจากปี 2554 ถึงปัจจุบัน โดยถ่ายทอดผลงานเมื่อมีการจัดฝึกอบรม การศึกษาดูงานในแปลง การจัดทำสื่อและเผยแพร่ทาง Social network

   3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย จำนวน 2 ราย ได้แก่
       (1) นางกัลยา โสภารัตน์ เป็นเกษตรกรที่เป็นผู้นำชุมชนในการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ มีกระบวนการขับเคลื่อนโดยยึดแนวทางตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการดำเนินการอย่างมีเหตุผลโดยการกำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนชุมชนร่วมกันผ่านกระบวนการวิเคราะห์ชุมชนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาร่วมกัน เช่น วิสัยทัศน์ชุมชน “รมณีย์ สามัคคี ปลอดหนี้สิน สิ้นอบายมุข มีความสุขอยู่ดีกินดี มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” สำหรับกองทุนปลอดหนี้สิน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชุมชนภาคประชาชน (สัจจะวันละ 1 บาท) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวบผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มเกษตรกรทำสวนรมณีย์ร่วมใจพัฒนา
และ (2) นางสาวสุชัญญานมาศ สุขาพันธ์ เป็นเกษตรกรผู้นำชุมชนและเครือข่ายที่มีผลงานสร้างสรรค์พัฒนาสังคมการเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชุมชนเครือข่าย “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาเกษตรกรคลื่นลูกใหม่”  ได้นำความรู้มาปรับเปลี่ยนพื้นที่และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาดิน” ส่วนรางวัลที่ได้รับ อาทิ เช่น ปี 2557 โล่เกียรติคุณ และเกียรติบัตร รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ระดับประเทศ ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่นในการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2556 โดยการไฟฟ้าฝ่ายการผลิตแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอาชีวศึกษา และปี 2557  ได้รับโล่เกียรติคุณ และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศระดับระดับประเทศ อันดับที่ 1 ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2557 โดยการไฟฟ้าฝ่ายการผลิตแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นต้น

x
  • รวมเว็บไซต์ทั้งหมด
  • ภาคเหนือ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ภาคกลาง
  • ภาคตะวันออก
  • ภาคใต้
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง