ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวอิงอร ปัญญากิจ) ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดปราจีนบุรี
วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เวลา 9.30 น. ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวอิงอร ปัญญากิจ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดปราจีนบุรี ครั้งที่ 2/2567 โดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดปราจีนบุรีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีประเด็นสำคัญเพื่อที่ประชุมทราบและพิจารณา ดังนี้
1. การเปลี่ยนผ่านสภาพอากาศจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 - กุมภาพันธ์ และในเดือนธันวาคม 2567 - มกราคม 2568 จะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ลักษณะอากาศอาจแปรปรวน อาจมีฝนบางแห่ง และมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำ ปี 2567 โดยมีปริมาตรกักเก็บน้ำรวม 314.34 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 297.11 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 94.51 ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ อยู่ในสถานการณ์ปกติ นอกจากนี้ โครงการชลประทานจังหวัดปราจีนบุรี ได้กำหนดแผนการควบคุมความเค็มเพื่อการเกษตร ในระหว่างเดือนธันวาคม 2567 – 30 เมษายน 2568
3. รายงานผลผลกระทบ/ความเสียหายด้านการเกษตร จากสถานการณ์ภัยพิบัติ (อุทกภัย) ตามที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 3 กันยายน 2567 เป็นต้นมา และทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และมีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบในพื้นที่ ดังนี้
3.1 ด้านพืช อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม และอำเภอเมือง รวมพื้นที่เสียหายทั้งหมด 3,836.5 ไร่ เกษตกร จำนวน 135 ราย
3.2 ด้านประมง อำเภอนาดี และอำเภอประจันตคาม รวมพื้นที่ 23.80 ไร่ จำนวนเกษตรกร 18 ราย
3.3 ด้านปศุสัตว์ อำเภอประจันตคาม โค-กระบือ รวมทั้งสิ้น 879 ตัว เกษตรกร จำนวน 56 ราย
ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดประชุม ก.ช.ภ.จ. เพื่ออนุมัติงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
4. รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ ฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดปราจีนบุรี ตามแนวทาง 3 แผนงาน 10 โครงการ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดไว้
5. รับทราบแนวทางการลดขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยลดระยะขั้นตอนและเวลาจากเดิม 90 วัน เหลือไม่เกิน 65 วัน รวมถึงอยู่ระหว่างการหารือกับกรมบัญชีกลางในประเด็นการขอเพิ่มวงเงินทดลองราชการฯ เพื่อช่วยเหลือเยียวยา
6. พิจารณาการเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2568 และฝนทิ้งช่วง โดยกำหนดให้มี 3 ด้าน 8 มาตรการ (ด้านน้ำต้นทุน ด้านความต้องการใช้น้ำ ด้านการบริหารจัดการ) โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนการเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2568 จังหวัดปราจีนบุรี ที่กำหนดไว้ และรายงานให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ในฐานะฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง มอบหมายเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นข้อมูลเอกภาพของจังหวัด
7. พิจารณาแนวทางการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรองรับ climate change โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีแนวทางการพัฒนา 13 แนวทาง โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางฯ ที่กำหนด และรายงานให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ภายในวันที่ 10 มกราคม 2567 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป